รูปแบบการเจริญเติบโตของธุรกิจโรงแรมในเมืองเซี่ยงไฮ้

โดย นางสาวณัฐวรรณ สิริภูมิ

บทคัดย่อ

มหานครเซี่ยงไฮ้เป็นหนึ่งในเมืองสำคัญด้านเศรษฐกิจของประเทศจีนและเป็นศูนย์กลางความเจริญในด้านต่างๆ ของภูมิภาคเอเชียตะวันออก ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การค้า การเงิน การลงทุน รวมถึงการท่องเที่ยวจึงเป็นที่ดึงดูดทั้งชาวจีนและชาวต่างชาติหลั่งไหลเข้ามาในมหานครแห่งนี้ดังนั้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จึงขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างน่าสนใจ โดยวิจัยชิ้นนี้ต้องการศึกษารูปแบบการเจริญเติบโตธุรกิจโรงแรมในเมืองเซี่ยงไฮ้  มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเจริญเติบโตของธุรกิจโรงแรมในเซี่ยงไฮ้  ผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยการเจริญเติบโตของธุรกิจโรงแรมในเซี่ยงไฮ้ส่วนหนึ่งเกิดจากการสนับสนุนการพัฒนาเมืองของรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลมีเป้าหมายพัฒนาเซี่ยงไฮ้ให้เป็นเมืองศูนย์กลางการเงินและการค้าระหว่างประเทศของจีน  รวมถึงพัฒนาสภาพแวดล้อม และคุณภาพชีวิตประชากร รวมทั้ง การเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวและสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ๆ การวิเคราะห์ทำเลที่ตั้งและรูปแบบการกระจายตัวของโรงแรม ผลการศึกษาพบว่า โรงแรมกระจุกตัวอยู่มากที่เขตผู่ชี และผู่ตง เพราะเป็นพื้นที่ใจกลางเมือง เป็นเขตเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยวที่สำคัญ นอกจากนี้การศึกษาความพึงพอใจของผู้ใช้บริการโรงแรมในมหานครเซี่ยงไฮ้ วิเคราะห์จาก การอ่านความคิดเห็นของผู้ใช้บริการผ่านเว็บไซด์ http://www.booking.com/ แล้วนำมาจัดอันดับความพึงพอใจโดยแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มครอบครัว กลุ่มนักธุรกิจ กลุ่มคู่รัก และกลุ่มเพื่อน ผลการศึกษาความพึงพอใจของผู้ใช้บริการโรงแรมทั้ง 4 กลุ่ม สรุปได้ว่าผู้ใช้บริการกลุ่มนักธุรกิจพึงพอใจโรงแรมที่บริการสิ่งอำนวยความสะดวกแตกต่างจากลุ่มอื่นๆ มากที่สุด ทั้งบริการภายในโรงแรมและที่ตั้งของโรงแรม ส่วนผู้ใช้บริการกลุ่มครอบครัว กลุ่มคู่รัก กลุ่มเพื่อน พึงพอใจโรงแรมที่มีบริการภายในโรงแรมและที่ตั้งของโรงแรมคล้ายกัน แตกต่างกันเล็กน้อยตามวัตถุประสงค์การใช้งานของแต่ละกลุ่ม ส่วนโรงแรมที่ได้รับความพึงพอใจจากผู้ใช้บริการหลายกลุ่ม ที่ปรากฏอยู่ในอันดับต้น พบว่าผู้ใช้บริการส่วนใหญ่พึงพอใจกับโรงแรมที่มีสถานที่ตั้งอยู่ใกล้สถานที่ท่องเที่ยวและสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน ทำให้สะดวกและประหยัดค่าใช้จ่าย  โรงแรมที่ได้รับความพึงพอใจในอันดับท้าย เป็นโรงแรมที่ตั้งอยู่ในเขตเมืองรอบนอกของเซี่ยงไฮ้ ซึ่งห่างไกลจากสถานที่ท่องเที่ยวและคมนาคมไม่สะดวก

ดาวน์โหลด บทความวิจัย
icon-pdf