มองภาพความเป็นญี่ปุ่นผ่านการ์ตูน เรื่อง นัตสึเมะกับบันทึกพิศวง

โดย นางสาวจิตรวดี บุตรรัตนชู

บทคัดย่อ

บทความวิจัยเรื่องมองภาพความเป็นญี่ปุ่นผ่านการ์ตูน เรื่อง นัตสึเมะกับบันทึกพิศวง นี้ เป็นงานวิจัยที่ผู้ศึกษาดำเนินการวิจัยโดยใช้วิธีวิจัยเชิงคุณภาพ โดยการวิเคราะห์เนื้อหา เพื่อศึกษารูปแบบและวิธีการนำเสนอ และศึกษาลักษณะภาพตัวแทนความเป็นญี่ปุ่นที่ถูกสอดแทรกอยู่ในสื่อการ์ตูนเรื่อง นัตสึเมะกับบันทึกพิศวง โดยมีประเด็นในการศึกษา 1. เพื่อศึกษารูปแบบและวิธีการนำเสนอของการ์ตูนญี่ปุ่น เรื่อง นัตสึเมะกับบันทึกพิศวง 2. เพื่อศึกษาภาพตัวแทนความเป็นญี่ปุ่นที่มีการนำเสนอผ่านการ์ตูนญี่ปุ่น เรื่อง นัตสึเมะกับบันทึกพิศวง โดยมีแนวคิดทฤษฎีที่ใช้เป็นกรอบในการวิเคราะห์ คือ 1. แนวคิดและความหมายของการ์ตูน 2. แนวคิดเกี่ยวกับภาพตัวแทน 3. แนวคิดเกี่ยวกับวัฒนธรรม 4. แนวคิดเกี่ยวกับการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม 5. แนวคิดเกี่ยวกับองค์ประกอบของบทละคร

ผลการวิจัยพบว่า รูปแบบและวิธีการนำเสนอของการ์ตูนญี่ปุ่น เรื่อง นัตสึเมะกับบันทึกพิศวง นั้น ในส่วนของโครงเรื่องจะเกี่ยวกับเด็กหนุ่มที่โตขึ้นมาโดยที่ไม่มีใครต้องการ เพียงเพราะเขามองเห็นโยไค หรือ ภูติผี ทำให้เขาปิดใจและเข้ากับผู้อื่นไม่ได้ แต่พอเขาโตขึ้น ชีวิตประจำวันของเขาก็ได้เปลี่ยนไป เพราะการที่มีบันทึกสหายที่คุณย่าของเขาหลงเหลือไว้ให้ ทำให้มีภูตผีมากมายเข้ามาหาเขา แต่ภูตผีที่เขาเจอนั้น ทำให้ความคิดของเขานั้นเปลี่ยนไป เขาเริ่มเปิดใจคุยกับผู้อื่น และรู้สึกเป็นห่วงผู้อื่นมากขึ้น ในเนื้อเรื่องจะดำเนินเหตุการณ์เกี่ยวกับภารกิจการคืนชื่อให้กับภูตผี โดยมีอุปสรรคต่าง ๆ เข้ามามากมาย ให้เด็กหนุ่มแก้ปัญหาและผ่านไปให้ได้

สำหรับกลวิธีเล่าเรื่อง จะเป็นการเล่าเรื่องผ่านมุมมองของตัวละครหลัก คือ นัตสึเมะ ทาคาชิ เรื่อง มีเหตุการณ์ปัจจุบันและอดีตสลับไปมาในการดำเนินเรื่อง ในแต่ละตอนมักจะนำเสนออารมณ์เหงาของตัวละครที่เป็นภูติผี ความเหงาที่เกิดจากการรอคอยใครซักคนที่สามารถเห็นตนเองและพูดคุยได้

ในส่วนของฉาก มีการใช้สีประกอบฉาก เพื่อสื่อถึงอารมณ์ ความรู้สึกของตัวละครให้ชัดเจนยิ่งขึ้น และสื่อถึงเรื่องราวในอดีต ได้แก่ การใช้ฉากสีน้ำตาลอ่อน หมายถึง เรื่องราวกำลังนำเสนอภาพเหตุการณ์ในอดีตอยู่ ฉากสีชมพู สื่อให้เห็นอารมณ์ตกหลุมรัก ฉากสีฟ้า สื่อให้เห็นถึงความสงบ ความเงียบ ความศรัทธา ฉากสีแดง สื่อให้เห็นถึงอารมณ์โกรธของตัวละคร ฉากสีน้ำเงินหม่น สื่อให้เห็นถึงความหวาดกลัว จิตใจเศร้าหมอง อีกทั้งยังมีการใช้ฉากที่มีอยู่จริง หมายถึง สถานที่ที่มีอยู่จริงในประเทศญี่ปุ่น เป็นฉากที่ใช้แสดงประกอบสถานที่ที่ตัวละครได้ไปเยือน ได้แก่ สถานีรถไฟฮิโตโยชิ ศาลเจ้าสึกาวาระทามาจิ สะพานเทนกุ สะพานคาซามัตสึ ซึ่งสถานที่ทั้งหมดนั้น อยู่ในเมืองฮิโตะโยะชิ จังหวัดคุมาโมโตะ ซึ่งเป็นสถานที่เกิดของผู้เขียนเรื่อง นัตสึเมะกับบันทึกพิศวง อีกด้วย

ในส่วนของตัวละคร ตัวละครทั้งหมดมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของนัตสึเมะ ตัวละครหลักของเรื่อง มาดาระหรืออาจารย์เนียนโกะ เป็นภูตผีตนแรกที่ทำให้นัตสึเมะรู้สึกเปิดใจและไว้วางใจผู้อื่น ทานุมะเป็นเพื่อนคนแรกที่นัตสึเมะเริ่มเปิดใจด้วย และเริ่มที่จะเล่าเรื่องราวของตนเองให้ผู้อื่นฟัง นาโทริและมาโตบะ ทั้งคู่เป็นตัวละครที่อยู่คนละฝั่งกับนัตสึเมะ แต่กลับส่งผลต่อนัตสึเมะในเรื่องของจิตใจ คือ นัตสึเมะเริ่มอยากจะช่วยเหลือผู้อื่นมากขึ้น เนื่องจากว่า ทั้งนาโทริและมาโตบะต่างมีหน้าที่ในการขับไล่ผี นัตสึเมะจึงเริ่มมีความรู้สึกอยากจะช่วยเหลือภูติผีที่ไม่ได้ทำอะไรผิด แต่ต้องมาโดนกำจัดจากสองคนนี้ สุดท้าย คุณย่าของนัตสึเมะ ถือเป็นตัวละครสำคัญที่ทำให้ชีวิตวัยรุ่นของนัตสึเมะได้เปลี่ยนไป เพียงเพราะบันทึกสหายที่คุณย่าส่งต่อมาให้ ทำให้นัตสึเมะได้เจอกับผู้คนรอบข้างมากมาย และทำให้นัตสึเมะเปลี่ยนแปลงไปในทางทีดีขึ้น

สำหรับการศึกษาภาพตัวแทนความเป็นญี่ปุ่นที่มีการนำเสนอผ่านการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่อง นัตสึเมะกับบันทึกพิศวง นั้น ได้มีการสื่อสารเกี่ยวกับวัฒนธรรมญี่ปุ่นผ่านภาพตัวแทนความเป็นญี่ปุ่นผ่านทางวัฒธรรมที่เป็นวัตถุและวัฒนธรรมที่ไม่ใช่วัตถุ โดยออกมาในรูปแบบของพฤติกรรมตัวละคร ฉากประกอบการ์ตูน เหตุการณ์ต่างๆที่นำเสนออยู่ในแต่ละตอน โดยมีการแบ่งตามกลุ่มดังนี้ 1. ภาพตัวแทนความเป็นญี่ปุ่นด้านวัฒนธรรมที่เป็นวัตถุ 2. ภาพตัวแทนความเป็นญี่ปุ่นด้านวัฒนธรรมที่ไม่ใช่วัตถุ

ซึ่งผลการวิจัยของทั้ง 2 กลุ่ม แสดงให้เห็นว่า ภาพตัวแทนความเป็นญี่ปุ่นในการ์ตูน เรื่อง นัตสึเมะกับบันทึกพิศวง นั้น ใช้การสื่อสารผ่านทางวัฒนธรรมที่เป็นวัตถุและวัฒนธรรมที่ไม่ใช่วัตถุ ปริมาณใกล้เคียงกัน โดยกลุ่มที่มีภาพตัวแทนความเป็นญี่ปุ่นด้านวัฒนธรรมที่เป็นวัตถุ แบ่งออกเป็นหัวข้อย่อย ได้แก่ 1. ภาพตัวแทนความเป็นญี่ปุ่นด้านสถาปัตยกรรม 2. ภาพตัวแทนความเป็นญี่ปุ่นด้านวัฒนธรรมการบริโภค 3. ภาพตัวแทนความเป็นญี่ปุ่นด้านเครื่องใช้และสิ่งของ

กลุ่มที่มีภาพตัวแทนความเป็นญี่ปุ่นด้านวัฒนธรรมที่ไม่ใช่วัตถุ แบ่งเป็นหัวข้อย่อย ได้แก่ 1. ภาพตัวแทนความเป็นญี่ปุ่นด้านมารยาททางสังคม 2. ภาพตัวแทนความเป็นญี่ปุ่นด้านวัฒนธรรมการพักผ่อน 3. ภาพตัวแทนความเป็นญี่ปุ่นด้านความเชื่อและค่านิยมของคนญี่ปุ่น

ดาวน์โหลด บทความวิจัย
icon-pdf