การใช้บทกวีที่มีอิทธิพลในการระดมมวลชนของขบวนการเวียดมินห์ในช่วงสงครามอินโดจีนครั้งที่ 1 ค.ศ.1946 – 1954: กรณีศึกษา โต๋ หิว (Tố Hữu)

โดย นางสาวอารีวรรณ เกตุศิริ

บทคัดย่อ

บทความวิจัยเรื่องการใช้บทกวีในการระดมมวลชนของขบวนการเวียดมินห์ ช่วงสงครามอินโดจีน ครั้งที่ 1 ค.ศ.1946 – 1954: กรณีศึกษา โต๋ หิว (Tố Hữu) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษานโยบายการใช้บทกวีในการระดมมวลชนของขบวนการเวียดมินห์  และวิเคราะห์สถานการณ์การเมือง เศรษฐกิจและสังคมในช่วงสงครามอินโดจีน ครั้งที่ 1 ที่สะท้อนผ่านบทกวีของโต๋ หิว เนื่องจากเป็นนักกวีที่มีส่วนเกี่ยวข้องทางการเมือง อีกทั้งยังได้รับผิดชอบงานด้านศิลปะและวัฒนธรรมของพรรคคอมมิวนิสต์ โดยใช้วิธีวิจัยทางประวัติศาสตร์ด้วยการรวบรวมข้อมูลจากเอกสารที่เป็นภาษาไทย อังกฤษและเวียดนามในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อวิจัย

ผลการศึกษาพบว่าขบวนการเวียดมินห์มีนโยบายใช้บทกวีในการระดมมวลชน  โดยสอดแทรกเนื้อหาการต่อต้านผู้รุกรานต่างชาติ และการปลุกจิตสำนึกของความรักชาติ เนื่องจากบทกวีสามารถเข้าถึงชาวเวียดนามทุกระดับชั้นแม้แต่คนที่ไม่รู้หนังสือโดยใช้วิธีท่องจำ การใช้บทกวีที่มีความหมายกินใจและง่ายต่อการท่องจำ ทำให้ขบวนการเวียดมินห์สามารถขยายฐานมวลชนไปได้กว้างขวาง ทั้งพวกชาวนา และกรรมกรซึ่งเป็นฐานกำลังสนับสนุนเดิมและนายทุนและศักดินาเจ้าของที่ดิน รวมไปถึงพวกปัญญาชนด้วย ซึ่งในบทกวีดังกล่าวยังสะท้อนให้เห็นถึงภาพรวมของสงครามที่เกิดขึ้นอีกด้วย โต๋ หิว มีส่วนเกี่ยวข้องทางการเมือง อีกทั้งยังเคยเข้าร่วมขบวนการต่างๆในการกอบกู้ชาติ ทำให้ผลงานการเขียนบทกวีต่างๆส่วนมาก จึงมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการปลุกระดมให้ประชาชนรักชาติหรือตระหนักถึงความเป็นชาติ

ดาวน์โหลด บทความวิจัย

icon-pdf