การขยายตัวของอุตสาหกรรมเซรามิกส์ในประเทศจีน

โดย นางสาว ธนพร ฉิวภิรมย์

บทคัดย่อ

บทความวิจัยเรื่อง “การขยายตัวของอุตสาหกรรมเซรามิกส์ในประเทศจีน” มีวัตถุประสงค์คือ 1. เพื่อศึกษาพัฒนาการของอุตสาหกรรมเซรามิกส์ในประเทศจีน 2. เพื่อศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่ออุตสาหกรรมเซรามิกส์ในประเทศจีน 3.เพื่อศึกษาแนวโน้มการขยายตัวของอุตสาหกรรมเซรามิกส์ในประเทศจีนในอนาคตโดยนำข้อมูล ข้อมูลแบบทุติยภูมิ ซึ่งเป็นข้อมูลที่หน่วยงานหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานนั้นเก็บรวบรวมขึ้นโดยมีการประมวลผล มาดำเนินการวิเคราะห์เพื่อความชัดเจนและเข้าใจถึงรายละเอียดในหัวข้อต่างๆ

จากการศึกษาพบว่า จากอดีตจนถึงปัจจุบันวิวัฒนาการของเซรามิกส์นั้นเปลี่ยนไปตามยุคสมัยของโลก จากเซรามิกส์ดั้งเดิมที่ขึ้นรูปด้วยวิธีการปั้นมือ เครื่องจักรก็เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ในประเทศจีน กิจการเซรามิกส์และพอร์ซเลนมีการแข่งขันกันสูง กิจการใหญ่ๆ ในจีนมีจำนวนกว่าร้อยบริษัท ซึ่งธุรกิจอุตสาหกรรมเซรามิกส์ในประเทศจีนที่ประสบความสำเร็จใหญ่โตในปัจจุบันได้เริ่มมาจากหน่วยธุรกิจเล็กๆ มาก่อนแทบทั้งสิ้น โดยจะมีการผลิตเพื่อตอบสนองตลาดในท้องถิ่น แล้วจึงเริ่มเกิดการพัฒนาภายในทำให้เกิดการขยายตัวเมื่ออุตสาหกรรมเซรามิกส์ได้รับการตอบสนองเป็นอย่างดีในประเทศของตน ก็เริ่มมีการขยายพื้นที่การขายไปสู่ภูมิภาคอื่นๆ มีการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ในการพัฒนาการผลิต อุตสาหกรรมเซรามิกส์ของจีนส่วนใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองฝอวซาน เมืองเซินเจิ้น และเมืองซัวเถา เมืองฝอวซานขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตเซรามิกที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน  นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งเมืองที่ถูกขนานนามว่าเป็น “เมืองหลวงแห่งเซรามิกจีน” (China’s ceramic capital) นั่นก็คือเมืองจิ่งเต๋อเจิ้น มณฑลเจียงซี ทั้งสองเมืองนี้ส่งออกทั้งผลิตภัณฑ์เซรามิกในกลุ่มวัสดุก่อสร้างและเครื่องสุขภัณฑ์ใหญ่เป็นอันดับสามของโลก รองจากอิตาลีและสเปนอุตสาหกรรมเครื่องเคลือบเซรามิกส์ในจีนกำลังเดินหน้าอย่างต่อเนื่องและไม่หยุดยั้งเนื่องจากจีนเป็นประเทศที่มีปัจจัยในการผลิตที่เอื้ออำนวยทั้งด้านวัตถุดิบสำคัญที่มีอยู่อย่างมหาศาล มีเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย และมีการสนับสนุนจากรัฐบาลที่ออกนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมเซรามิกส์ให้เป็นอุตสาหกรรมเสาหลักของเมืองต่างๆ เพื่อให้เป็นเวทีเจรจาการค้าการลงทุน ความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ และการคมนาคมขนส่งระหว่างประเทศด้วยเหตุนี้ทำให้ประเทศจีน เป็นประเทศส่งออกสินค้าเครื่องเคลือบที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของโลก

ดาวน์โหลด บทความวิจัย
icon-pdf