ภาพสะท้อนของผู้หญิง และความเข้มแข็งทางวัฒนธรรมในวรรณกรรม แปลจีนเรื่อง “นารีนครา

โดย นางสาวธิดารัตน์ ศิริวรางกูร

บทคัดย่อ

บทความวิจัยเรื่องภาพสะท้อนของผู้หญิง และความเข้มแข็งทางวัฒนธรรมในวรรณกรรมแปลจีนเรื่อง “นารีนครา” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสังคมและวัฒนธรรมของประเทศจีนในช่วงก่อนปฏิวัติวัฒนธรรมจนถึงช่วงหลังเปิดประเทศ รวมถึงศึกษาวิถีชีวิต และแนวคิดของผู้หญิงจีนในแต่ละช่วง ตลอดจนศึกษาการสร้างตัวละครและการนำเสนอของผู้เขียนในประเด็นเรื่องความเข้มแข็งทางวัฒนธรรมตามที่ปรากฏในวรรณกรรมแปลจีน เรื่อง นารีนครา ผลการศึกษาปรากฏว่าวรรณกรรมแปลจีนเรื่องนารีนครานี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงสภาพสังคมของประเทศจีนโดยแบ่งช่วงเวลาออกเป็น 3 ช่วงผ่านตัวละครหลักทั้งสามตัว ช่วงแรกคือช่วงก่อนเกิดเหตุการณ์ปฏิวัติวัฒนธรรมภายใต้การนำของเหมา เจ๋อ ตง ช่วงที่สองคือช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรมภายใต้การนำของเหมา เจ๋อ ตง และช่วงที่สามคือช่วงหลังเปิดประเทศภายใต้การดำเนินนโยบายของเติ้ง เสี่ยว ผิง จากสภาพสังคมที่แตกต่างกันในสามช่วงเวลานี้ได้ส่งผลต่อแนวความคิด วิถีชีวิต และความเข้มแข็งในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นของผู้หญิงจีนทั้งสามช่วงเวลาที่แตกต่างกันไป แม้ว่าสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปได้ลดบทบาทของวัฒนธรรมเก่าลง แต่ด้วยการถ่ายทอดผ่านพฤติกรรมการแสดงออก และการสื่อสาร ทำให้ตัวละครหลักผู้หญิงในแต่ละช่วงสามารถเข้าใจ และนำมาปรับใช้เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้

ดาวน์โหลด บทความวิจัย
icon-pdf