การสร้างอัตลักษณ์ของวงดนตรี J-rock

โดย นางสาวอัจฉรินทร  ณรงค์

บทคัดย่อ

กระบวนการสร้างอัตลักษณ์ของวงดนตรี J-rock มีวัตถุประสงค์จัดทำขึ้นเพื่อศึกษาลักษณะอัตลักษณ์ของวงดนตรี j-rock ในแต่ละช่วงเวลา และศึกษาการสร้างอัตลักษณ์ของวงดนตรี j-rock โดยใช้แนวความคิดเรื่องสัญญะวิทยา แนวความคิดเรื่องอัตลักษณ์ และแนวความคิดเรื่องการสร้างภาพแทนมาวิเคราะห์ข้อมูลจากฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิคส์

ผลการวิจัยพบว่าลักษณะอัตลักษณ์ความเป็น J-rock ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของสังคมสามารถแบ่งออกเป็นยุคได้ 4ยุค โดยแต่ละยุคจะมีลักษณะที่แตกต่างกันไปตามบริบททางสังคมในยุคสมัยนั้น ซึ่งทำให้เห็นการสร้างอัตลักษณ์ของวงดนตรี j-rock โดยการสร้างผ่านสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในยุคนั้น

อัตลักษณ์ของวงดนตรี J-rock ในยุครุนแรงลอกเลียนแบบตะวันตก (ทศวรรษที่ 1960) อัตลักษณ์จะเน้นเรื่องแนวดนตรีที่มีความรุนแรง การแต่งกายด้วยชุดหนังสีดำ จะเห็นการสร้างอัตลักษณ์โดยผ่านตัวศิลปินเอง ซึ่งปรากฎอยู่ในแนวเพลงที่มีความเป็นร็อคหนักหน่วงตามแบบตะวันตก การแต่งกายที่สุดขั้วเกินความจริง และการใช้ชีวิตประจำวันด้วยรสนิยมแบบรุนแรง  มีคู่ตรงข้ามคือ เก่ากับใหม่ เป็นการปรับปลี่ยนแนวดนตรีร็อคที่ได้รับจากตะวันตกเข้ามาดัดแปลงให้เข้ากับของตนเอง

อัตลักษณ์ของวงดนตรี J-rock ในยุคเน้นภาพลักษณ์การแต่งกาย (ทศวรรษที่ 1980) อัตลักษณ์จะเน้นเรื่องการแต่งกาย หรือเรียกแนวดนตรีนี้ว่า แนวดนตรีภาพลักษณ์ ไม่เน้นแนวดนตรีมากนัก ซึ่งอัตลักษณ์ที่เด่น คือ การแต่งกายแบบข้ามเพศ และมีการแต่งกายแบบสุดขั้วเกินความจริงอย่างมาก โดยทรงผมมีการย้อมสีสันฉูดฉาด เซ็ตให้ชี้ตั้งฟูขึ้น และแต่งหน้าด้วยสีสันฉูดฉาด ซึ่งในชีวิตประจำวันไม่สามารถแต่งได้  ซึ่งจะเห็นการสร้างอัตลักษณ์โดยผ่านตัวศิลปิน และผ่านสื่อ ซึ่งปรากฏอยู่ในการแต่งกายที่ย้อมผมสีสันฉูดฉาด เป็นการสร้างอัตลักษณ์ที่สุดขั้วเกินความจริง ผ่านสื่อโดยผ่านการแสดงบนเวที การโฆษณาจากภาพโปสเตอร์ ทำให้เห็นการสร้างอัตลักษณ์ในยุคนี้ชัดเจนขึ้น มีคู่ตรงข้ามคือ ป็อปกับร็อค ที่เป็นแนวดนตรีที่มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ป็อปจะมีความเบา ส่วนร็อคจะมีความรุนแรง

อัตลักษณ์ของวงดนตรี J-rock ในยุคผสมผสานแนวดนตรี (ทศวรรษที่ 1990) อัตลักษณ์จะเน้นเรื่องแนวดนตรีที่มีการผสมผสานแนวอื่นเข้ามาด้วย เช่น แนวดนตรีป็อปร็อค กับ แนวดนตรีโกธิคร็อค ซึ่งจะเห็นการสร้างถึงอัตลักษณ์ในยุคนี้ผ่านค่ายเพลง โดยทางค่ายเพลงจะเป็นผู้กำหนดคอนเซ็ปต์และแนวดนตรีให้กับศิลปิน ดังนั้นวงดนตรีร็อคจะมีอัตลักษณ์ผ่านทางค่ายเพลง มีคู่ตรงข้ามคือ เบากับหนัก ซึ่งเป็นแนวดนตรีที่มีการผสามผสานของยุคนี้ ป็อปร็อคที่เป็นแนวดนตรีที่มีความเบาลง เมื่อร็อคมาผสมกับป็อบ ซึ่งจะตรงข้ามกับ โกธิคร็อค ที่เป็นแนวดนตรีที่ยังคงความรุนแรงอยู่

อัตลักษณ์ของวงดนตรี J-rock ในยุคหลากหลายแบบคู่ตรงข้าม (ศตวรรษที่ 2000 ถึงปัจจุบัน) อัตลักษณ์จะเน้นแนวดนตรีที่แบ่งแยกชัดเจน โดยมีแนวขาวกับแนวดำเป็นการแบ่งประเภทของวงดนตรีร็อค ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ในยุคนี้ ที่แนวขาวจะมีความสดใส และเป็นแนวที่เบา เมื่อเทียบกับแนวดำ ที่มีความรุนแรงของแนวเพลง และเป็นร็อคหนักๆ และในยุคนี้มีวงร็อคที่เป็นผู้หญิงเข้ามาด้วย จะเห็นว่าสังคมมีการเปิดรับเรื่องเพศมากขึ้น แต่เมื่อเปรียบเทียบกับวงร็อคชายแล้ว ก็ยังคงความเป็นสังคมที่มีชายเป็นใหญ่อยู่ดี โดยจะเห็นผ่านทางค่ายเพลง และเป็นผู้กำหนดคอนเซ็ปต์ ส่วนคู่ตรงข้ามในยุคนี้คือ ขาวกับดำ เป็นแนวดนตรีที่เป็นคู่ตรงข้ามกัน โดยเห็นได้อย่างชัดเจนผ่านแนวเพลงที่มีการแบ่งระหว่างความเบากับความรุนแรง

จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะสามารถเข้าใจการสร้างของวงดนตรีJ-rock ได้ ก็ต้องรู้ถึงบริบทของสังคมที่อยู่ในยุคสมัยนั้นได้ด้วย โดยดูจากลักษณะอัตลักษณ์ของวงดนตรี J-rock ที่มีการเปลี่ยนแปลงตามแต่ละช่วงเวลา และการสร้างที่มองผ่านบริบททางสังคมในตอนนั้น รวมไปถึงอัตลักษณ์ที่เป็นคู่ตรงข้ามด้วย

ดาวน์โหลด บทความวิจัย
icon-pdf