ชุน เต อิล กับการต่อสู้เพื่อชนชั้นแรงงานเกาหลีใต้ (1960 – 1987)

โดย นางสาวอนงค์ วัฒนานุสรณ์

บทคัดย่อ

บทความวิชาการเรื่อง ชุน เต อิล กับการต่อสู้เพื่อชนชั้นแรงงานเกาหลีใต้ (1960-1987)  มีวัตถุประสงค์การศึกษาคือ เพื่อศึกษาปัจจัยการก่อตัวทางชนชั้นแรงงานในเกาหลีใต้ ศึกษาบทบาทของแรงงานต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ และศึกษาสาเหตุของการประท้วง ความคิดของ ชุน เต อิล รวมทั้งผลกระทบจากการประท้วงของ ชุน เต อิล ที่เกิดขึ้นกับประเทศและแรงงานชาวเกาหลีใต้

ผลการศึกษาพบว่าหลังจากสงครามเกาหลีสงบลง คาบสมุทรเกาหลีได้ถูกแบ่งโดยเส้นขนานที่ 38 เป็นประเทศเกาหลีเหนือและประเทศเกาหลีใต้ โดยเกาหลีใต้มีความพยายามอย่างมากที่จะเดินหน้าเศรษฐกิจของประเทศ โดยใช้ยุทธศาสตร์การผลิตเพื่อส่งออก ที่พึ่งพาแรงงานภายในประเทศเป็นจำนวนมาก เหล่าเกษตรกรจึงเข้ามาทำงานเป็นแรงงานในภาคอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก จึงเกิดชนชั้นแรงงานในเกาหลีใต้

แรงงานชาวเกาหลีใต้มีสถานะที่อ่อนแอ จากความเชื่อลัทธิขงจื่อ ปัจจัยทางประวัติศาสตร์ บริบททางการเมือง และภาษาที่ครอบงำที่กำหนดโดยรัฐบาล ทำให้แรงงานต้องยอมจำนนต่อนายจ้าง ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด แต่เมื่อก้าวเข้าสู่ปลายทศวรรษ 1970 แรงงานเกาหลีเริ่มมีความเข้มแข็งมากขึ้นเนื่องด้วย มีกระจุกตัวของชุมชนแรงงาน มีกิจกรรมที่ทำให้เกิดการรวมตัว เกิดการสนับสนุนจากเหล่าปัญญาชน การสนับสนุนจากภาคประชาชน และที่สำคัญคือ การประท้วงของ ชุน เต อิล

ชุน เต อิล วัย 22 ปี เป็นหนึ่งในแรงงานในอุตสาหกรรมเย็บผ้าในเกาหลีใต้ พบเห็นชีวิตการทำงานที่เลวร้ายของแรงงานชาวเกาหลีใต้ เขาจึงทำทุกวิธีการที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตของเหล่าแรงงาน เริ่มตั้งแต่ตั้งใจทำงานเพื่อจะได้เลื่อนตำแหน่งเพื่อต่อรองกับนายจ้าง เป็นผู้นำสมาคมเพื่อปลุกระดมแรงงาน และผู้นำในการประท้วงแรงงาน จนในที่สุดตัดสินใจประท้วงโดยการเสียสละชีวิตของตนเอง

ผลจากการสละตัวเองของ ชุน เต อิล ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายขึ้นกับประเทศเกาหลี ทำให้เกิดการวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียวของนักศึกษา องค์กรศาสนา และแรงงานชาวเกาหลีใต้ รวมทั้งทำให้แรงงานมีความเข้มแข็งมากขึ้น เกิดสหภาพแรงงานมากมาย แรงงานมีบทบาทมากขึ้นในสังคมเกาหลี มีบทบาทในการประท้วงทางการเมือง

ดาวน์โหลด บทความวิจัย
icon-pdf