พื้นที่สำหรับผู้พิการในประเทศญี่ปุ่น

โดย นายชยพล ติรณะประกิจ

บทคัดย่อ

การศึกษางานวิจัยในหัวข้อ เรื่อง พื้นที่สำหรับผู้พิการในประเทศญี่ปุ่น มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการจัดการพื้นที่ส่วนตัวสำหรับผู้พิการในประเทศญี่ปุ่นและเพื่อศึกษาการจัดการพื้นที่สาธารณะสำหรับผู้พิการในประเทศญี่ปุ่น มีวิธีดำเนินการวิจัย คือ ศึกษาแหล่งข้อมูลทุติยภูมิ ประกอบด้วยสิ่งตีพิมพ์ เอกสาร หนังสือ  งานวิจัยที่เกี่ยวข้องและข้อมูลทางมัลติมีเดีย บทความทางอินเตอร์เน็ต สุดท้ายนำข้อมูลที่ได้จากการศึกษามาวิเคราะห์และสรุปผล

ผลการศึกษาพบว่า ในประเทศญี่ปุ่นทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้พิการ ได้หันมาตระหนักถึงความสำคัญของผู้พิการโดยมีการออกแบบพื้นที่ส่วนตัว ได้แก่ ห้องนอน ห้องน้ำ ห้องครัว และพื้นที่สาธารณะ ได้แก่ การคมนาคม เช่น ถนน ทางลาด ที่จอดรถผู้พิการ ขนส่งมวลชนสาธารณะ และภายในอาคารสถานที่ เช่น ลิฟต์ ห้องน้ำสาธารณะสำหรับผู้พิการ ตู้โทรศัพท์สาธารณะ ชั้นวางสินค้าในพื้นที่สาธารณะ โดยแต่ละพื้นที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกแตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ตามแสดงให้เห็นว่าหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเริ่มหันมาให้ความสำคัญต่อการใช้ชีวิตของผู้พิการเพื่อช่วยส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้พิการ

การจัดการดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าประเทศญี่ปุ่นโดยภาครัฐ ภาคเอกชนและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้พิการในประเทศญี่ปุ่น ให้ความสำคัญกับผู้พิการเป็นอย่างมาก โดยยึดหลักสิทธิมนุษยชนตามหลักสากล ที่เห็นว่า มนุษย์ทุกคนเกิดมาพร้อมสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียม มนุษย์ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับสวัสดิการและการพัฒนาด้านจิตวิญญาณ เท่าเทียมกัน ทำให้รัฐบาลออกกฎหมายต่างๆ ขึ้นมาเพื่อบังคับใช้ให้ทุกพื้นที่ในสังคม มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสมแก่ผู้พิการ จึงทำให้คนในสังคมต่างตระหนักและให้ความสำคัญต่อผู้พิการและเกิดแนวความคิดการออกแบบพื้นที่โดยอาศัย แนวคิดอารยสถาปัตย์ (Universal Design) โดยการจัดการพื้นที่ ทั้งในส่วนของพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่สาธารณะสำหรับผู้พิการในประเทศญี่ปุ่น ก่อให้เกิดความสะดวก ปลอดภัย เป็นธรรม ทั่วถึงและเท่าเทียม ส่งผลให้ผู้พิการในประเทศญี่ปุ่นมีความสุขในการดำเนินชีวิต

ดาวน์โหลด บทความวิจัย
icon-pdf