ความเปลี่ยนแปลงและบทบาทของเทศกาลบูชาอวัยวะเพศ

โดย นางสาวดาริกา  ฝ่ายสิงห์

บทคัดย่อ

การศึกษาวิจัยเรื่อง ความเปลี่ยนแปลงและบทบาทของเทศกาลบูชาอวัยวะเพศ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเปลี่ยนแปลงของเทศกาลบูชาอวัยวะเพศในแต่ละยุค และบทบาทของเทศกาลบูชาอวัยวะเพศต่อสังคมญี่ปุ่นในปัจจุบัน ซึ่งจะศึกษาในกรณีเทศกาล Hounen Matsuri และเทศกาล Kanamara Matsuri โดยมีการศึกษาค้นคว้าและเก็บข้อมูลแบบทุติยภูมิจากเอกสารแบบสื่อสิ่งพิมพ์ทั้งหนังสือ บทความวิจัยที่เกี่ยวข้อง เอกสารประกอบการสอน และอินเตอร์เน็ต และนำแนวคิดและทฤษฎีทางสังคมศาสตร์มาใช้ในการวิเคราะห์

ผลการศึกษาพบว่าการเปลี่ยนแปลงของเทศกาลบูชาอวัยวะเพศแบ่งออกเป็น 6 ยุค ดังนี้

ยุคที่ 1 คือ ยุคริเริ่มพิธีกรรมบูชาเทพเจ้า  สมัยยะโยะอิ (400 ปีก่อนค.ศ.-ค.ศ.250)  เป็นเพียงพิธีกรรมที่ใช้รูปสลักอวัยวะเพศชายมาบูชา จะจัดขึ้นตามแต่ละหมู่บ้านเล็กๆ

ยุคที่ 2 คือ ยุคก่อตั้งงานเทศกาลบูชาอวัยวะเพศ  สมัยโคะฟุง – สมัยอะซึกะ (ค.ศ.250-710)  เกิดเทศกาล Hounen Matsuri ทำให้จุดประสงค์ รูปแบบงาน สถานที่ และวันเวลาชัดเจนมากขึ้น

ยุคที่ 3 คือ ยุครับเอาวัฒนธรรมจีน  สมัยนาระ – สมัยมุโรมาจิ (ค.ศ.710-1573)  เป็นช่วงที่ญี่ปุ่นรับเอาวัฒนธรรมจีนเข้ามา ผ่านทางศาสนา ทำให้รูปแบบของงานและสินค้าถูกเปลี่ยนให้เป็นแบบจีนมากขึ้น

ยุคที่ 4 คือ ยุครุ่งเรืองของงานเทศกาล  สมัยอะซึจิ โมโมยามะ – สมัยเอโดะ (ค.ศ.1573-1868)  มีผู้นำประเทศที่ชื่นชอบวัฒนธรรมต่างๆ ของญี่ปุ่นจึงให้เงินสนับสนุนทำให้เทศกาลรุ่งเรืองมากขึ้น และในขณะนั้นมีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์แพร่ขยายไปทั่ว ทำให้เกิดเทศกาล Kanamara Matsuri ขึ้น

ยุคที่ 5 คือ ยุควัฒนธรรมญี่ปุ่นถดถอย  สมัยเมจิ – สมัยโชวะ (ค.ศ.1868-1989)  เป็นช่วงที่ญี่ปุ่นได้ปิดประเทศและถูกกดดันจากตะวันตกให้เปิดประเทศ ทำให้วัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาเปลี่ยนแปลงเทศกาลจนพิธีกรรมดั้งเดิมหายไปมาก อีกทั้งเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้เทศกาลถูกระงับไม่จัดหลายปี

ยุคที่ 6 คือ ยุคส่งเสริมเทศกาลไปสู่การท่องเที่ยวและก้าวสู่สากล  สมัยเฮเซ (ค.ศ.1989-ปัจจุบัน)  เป็นช่วงยุคโลกาภิวัตน์ ทำให้เทศกาลบูชาอวัยวะเพศทั้งสองที่ได้รับการเผยแพร่ทางสื่อต่างๆ จนมีนักท่องเที่ยวเข้ามามากมาย และเป็นยุคที่เน้นการนำเทศกาลให้กลายมาเป็นสินค้า

ส่วนบทบาทของเทศกาลบูชาอวัยวะเพศในปัจจุบันพบว่า นอกจากเทศกาลบูชาอวัยวะเพศจะมีพิธีกรรมเพื่อบูชาเทพเจ้าและขอพรตามความเชื่อสมัยก่อนแล้ว  เทศกาลยังก่อให้เกิดการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ ที่มีการขายวัฒนธรรม ทำให้เทศกาลบูชาอวัยวะเพศมีบทบาททางด้านเศรษฐกิจอย่างมาก เพราะช่วยให้เศรษฐกิจรุ่งเรืองขึ้น เกิดอาชีพใหม่ๆ เกิดธุรกิจของที่ระลึกมากมาย สร้างรายได้ให้กับชุมชนและสังคมญี่ปุ่น ซึ่งการเตรียมงานเทศกาลบูชาอวัยวะเพศนี้ได้รับแรงกาย แรงใจ และความสามัคคีของคนในชุมชน ทำให้เทศกาลมีบทบาททางด้านสังคมเป็นอย่างมาก เพราะช่วยให้เกิดการรวมกลุ่มและเกิดความมีจิตสำนึกร่วมกันในชุมชน  ทำให้ชุมชนในสังคมมีความสามัคคีและผูกพันกันมากขึ้น  จึงกล่าวได้ว่าเทศกาลบูชาอวัยวะเพศเป็นเทศกาลที่แสดงออกถึงชีวิตและความเป็นอยู่ของสังคมญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดีตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน

ดาวน์โหลด บทความวิจัย
icon-pdf