การศึกษาวิเคราะห์พัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงเทศกาลเช็งเม้ง

โดย นางสาววราภรณ์ อินพรม

บทคัดย่อ

บทความวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาพัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงเชิงประวัติศาสตร์และเชิงรูปแบบของเทศกาลเช็งเม้ง โดยได้ศึกษาถึงความเปลี่ยนแปลงทั้งเชิงประวัติศาสตร์และรูปแบบพิธีกรรม รวมไปถึงความเปลี่ยนแปลงในด้านความคิดความเชื่อ

ผลการศึกษาพบว่า การเซ่นไหว้อยู่คู่กับชาวจีนมาช้านาน ก่อนจะมาเป็นเทศกาลเช็งเม้งที่สำคัญนั้น เดิมทีเป็นวันไหว้เจี้ยจือชุยที่ย้ายวันมาจากฤดูหนาว ซึ่งตรงกับวันซ่างสื้อพอดีจึงรวมสองเทศกาลเข้าไว้ด้วยกัน โดยมีกิจกรรมหลักคือการเซ่นไหว้บรรพบุรุษและการเที่ยวชมธรรมชาติ แต่เมื่อเวลาล่วงเลยไปกิจกรรมการละเล่นและการเที่ยวชมธรรมชาติก็ถูกลืมหายไปและมีกิจกรรมอื่นเสริมหรือทดแทน ด้านรูปแบบพิธีกรรมนั้นยังมีการไหว้บรรพบุรุษเหมือนเดิม เพียงแต่อาจมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดในพิธีกรรม ในแง่ของระยะเวลาที่เปลี่ยนไปไม่เจาะจงว่าต้องเป็นวันที่ 5 เมษายน มีการยืดหยุ่นระยะเวลาให้หรือย้ายไปไหว้เช็งเม้งฤดูหนาวก็สามารถทำได้ แง่ของของเซ่นไหว้ที่เปลี่ยนไปจากรูปแบบโบราณเป็นของที่หาได้ง่ายและสะดวกสบายโดยไม่คำนึงถึงความหมายแฝงและความเคร่งครัด การเปลี่ยนแปลงในแง่ของการฝังศพ พื้นที่ฝังศพไม่จะเป็นต้องฝังในชัยภูมิที่จัดหาโดยชินแส แต่เพื่อความสะดวกสบาย อาจจะฝังในที่ที่จัดเอาไว้โดยมูลนิธิหรือฝังไว้ที่วัดก็ได้ การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดที่กล่าวมาอาจมาจากปัจจัยทางเศรษฐกิจและปัจจัยของความทันสมัยสะดวกสบายของยุคสมัย นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงในเชิงความคิดในแง่ของความเกรงกลัวในพลังธรรมชาติ รวมการยำเกรงวิญญาณบรรพบุรุษ พัฒนามาเป็นความเกรงกลัวในตัวบุคคลภายในครอบครัว ความเปลี่ยนแปลงความเชื่อเรื่องความกตัญญูและการตอบแทนบุญคุณตามหลักหลักขงจื๊อ เป็นหลักความคิดที่สำคัญที่ทำให้พิธีไหว้เช็งเม้งมีความสำคัญและเป็นนัยยะของการแสดงความกตัญญูรูปแบบหนึ่ง ซึ่งความเชื่อเหล่านี้ก็ยังคงฝังรากลึกอยู่ในชีวิตประจำวันของชาวจีนโพ้นทะเล การฝังศพตามหลักฮวงจุ้ยตามความเชื่อเรื่องพลังของลัทธิเต๋าอาจถูกลดความสำคัญลงไป และทั้งยังมีความคิดเรื่องความสะดวกสบายและความทันสมัยที่ส่งผลให้รายละเอียดหรือขั้นตอนของพิธีกรรมเปลี่ยนไปแต่ก็ยังคงเป็นเครื่องมือเพื่อสื่อความหมายเพื่อแสดงความกตัญญู เมื่อชาวจีนมาอาศัยอยู่ในประเทศไทยจึงเกิดการผสมผสานของสองวัฒนธรรมที่เป็นไปได้อย่างกลมกลืน การนับถือศาสนาพุทธก็เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้รูปแบบพิธีเปลี่ยนไป แต่เป้าหมายของการประกอบพิธียังคงเดิม อาจกล่าวได้ว่าชาวจีนโพ้นทะเลยังคงใช้พิธีเซ่นไหว้เพื่อสื่อความหมายของความกตัญญู ถึงแม้ว่าวิถีปฏิบัติอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามยุคตามสมัย แต่การพบปะกันของเครือญาติที่อยู่แต่ละถิ่นสิ่งสำคัญที่สุดของการไปไหว้เช็งเม้ง เป็นกุสโลบายที่แฝงอยู่ในเทศกาลนี้

ดาวน์โหลด บทความวิจัย
icon-pdf