ภาพสะท้อนความแปลกแยกของสภาวะปัจเจกในสังคมญี่ปุ่นผ่านการตีความในภาพยนตร์เรื่อง Tales from Earthsea

โดย นางสาวนลินี บุรีวชิระ

บทคัดย่อ

ภาพยนตร์เรื่อง Tales from Earthsea สะท้อนความแปลกแยกจากสภาวะปัจเจก ปรากฏออกมาในเนื้อเรื่องอย่างน่าสนในแง่ของภาพสะท้อนสังคมญี่ปุ่นปัจจุบัน การนำเสนอผ่านสองตัวละครเอกคือพระเอก และนางเอก อาร์เร็นและเทรุ แนวคิดและปรัชญาที่กล่าวถึงภาวะความแปลกแยก และอารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร สามารถอธิบายผ่านแนวคิดโรแมนติกซิสม์ (Romanticism) และอัตถิภาวนิยม (อังกฤษ:Existentialism) ในการศึกษาภาพยนตร์และภาวะของสังคมญี่ปุ่น ปรัชญาอัตถิภาวนิยม คือ แนวคิดทางปรัชญาที่พิจารณาว่าปัจเจก ตัวตน ประสบการณ์ของปัจเจกแต่ละคน และความพิเศษอันเป็นหนึ่งเดียวของสิ่งที่กล่าวมา เป็นสิ่งที่สำคัญและเป็นพื้นฐานในการทำความเข้าใจกับธรรมชาติของการมีอยู่ของมนุษย์ ปรัชญานี้เชื่อในอิสรภาพ และยอมรับในผลสืบเนื่องจากการกระทำของปัจเจก และยังเชื่อว่าปัจเจกจะต้องรับผิดชอบกับทางเลือกที่ได้เลือกไว้ด้วย ส่วนแนวคิดแบบโรแมนติกซิสม์นั้น ให้ความสำคัญกับอารมณ์ ความรู้สึก ความต้องการที่เรียกร้องอยู่ภายในของมนุษย์ ซึ่งสามารถอธิบายและสอดคล้องกับประเด็นความแปลกแยกจากสภาวะปัจเจกที่ปรากฏในเนื้อเรื่อง ถึงปัญหาสภาวะจิตใจที่ถูกกดดันจากสังคมรอบข้าง จนต้องหลบหนี หรือเลือกที่จะปิดกั้น มีปฏิสัมพันธ์ต่อสังคมรอบข้างเพียงเล็กน้อย และสามารถใช้วิเคราะห์เชื่อมโยงกับความแปลกแยกจากสภาวะปัจเจกในสังคมญี่ปุ่นยุคปัจจุบันได้อีกด้วย เช่นโรคฮิกิโกะโมะริ (ญี่ปุ่น: Hikikomori ひきこもり หรือ 引き籠もりHikikomori) ทั้งนี้ข้อมูลเกี่ยวกับบริบทสภาพแวดล้อม ความเป็นมาของผู้กำกับโกะโระ มิยะซะกิ ที่มีชีวิตครอบครัวที่ไม่สู้จะอบอุ่นนัก โดยฮะยะโอะ มิยะซะกิผู้เป็นพ่อทุ่มเทให้กับงาน แต่ไม่ค่อยมีเวลาให้ แล้วเขาก็เติบโตขึ้นมาภายใต้ชื่อ “ลูกชายของฮะยะโอะ ผู้มีผลงานระดับโลก” ทำให้ต้องรับภาระแรงกดดัน และความคาดหวังต่อผลงานจากคนรอบข้างสูง จึงอาจกล่าวได้ว่าชีวิตส่วนตัวของผู้กำกับโกะโระ มิยะซะกิ มีอิทธิพลและสอดคล้องกับเนื้อหาภาพยนตร์ที่ได้ถูกแก้ไขจากนวนิยายจนกลายเป็นสะท้อนลักษณะสังคมญี่ปุ่นปัจจุบันไปโดยปริยาย

ดาวน์โหลด บทความวิจัย
icon-pdf