อิทธิพลของภาพพิมพ์ชุนกะ ในงานศิลปะของ AYA TAKANO

โดย นางสาวอรปวีณ์  คงศักดิ์เสรี

บทคัดย่อ

บทความวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประวัติความเป็นมาของภาพพิมพ์ชุนกะในสมัยเอโดะ และศึกษาองค์ประกอบศิลป์ในภาพพิมพ์ชุนกะ เพื่อเปรียบเทียบลักษณะของภาพพิมพ์ชุนกะที่ส่งอิทธิพลต่องานศิลปะของ Aya Takano โดยศึกษาจากการค้นคว้าข้อมูลทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาญี่ปุ่น ในเรื่องประวัติความเป็นมาของภาพพิมพ์ชุนกะ รวมถึงประวัติและผลงานต่างๆของAya Takano และศิลปินที่ปรากฎอยู่ในสมัยเอโดะ โดยเลือกศิลปินที่มีชื่อเสียงสามท่าน คือ ฮิชิคาวะ โมโรโนบุ (hishikawa monorobu) คิตะงะวะ อุตะมะโระ (Kitagawa Utamaro) และของคัตสุชิกะ โฮะกุไซ (katsushika Hokusai) เพื่อมาวิเคราะห์ในด้านขององค์ประกอบศิลป์และนำมาเปรียบเทียบกัน

จากผลการศึกษาพบว่าภาพพิมพ์ชุนกะในสมัยเอโดะมีอิทธิพลต่องานศิลปะของ Aya Takano คือทั้งด้านองค์ประกอบภาพ การใช้สี ภาพใบหน้าบุคคล เครื่องแต่งกาย รวมไปถึงฉาก และอารมณ์ของภาพ ซึ่งเป็นภาพสองมิติเหมือนกัน มีทั้งแนวตั้งและแนวนอน ตัวละครที่สำคัญมักจะมีขนาดใหญ่และอยู่ตรงกึ่งกลางของภาพการใช้สี มีการใช้สีที่เป็นแม่สี อย่างเช่น สีน้ำเงิน และสีแดง ในการลงสีเป็นส่วนใหญ่ทั้งในตัวบุคคลและพื้นหลัง การตัดขอบของรูปภาพก็จะใช้ลายเส้นสีดำในการตัดขอบเหมือนกัน ส่วนภาพของบุคคลส่งต่อมาตั้งแต่สมัยเอโดะอย่างเห็นได้ชัดก็คือ สีผิวของตัวละคร ซึ่งทั้งหมดจะเป็นสีผิวขาว ซึ่งเป็นสีชาติพันธุ์ของชาวเอเชียตะวันออกมาตั้งแต่โบราณ ทำให้ในผลงานศิลปะทั้งในสมัยเอโดะและของอายะ ทะคะโนะ เราจะไม่เห็นตัวละครที่มีสีผิวดำเลย ส่งผลมาถึงสีผม ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นสีดำ โดยเฉพาะผู้หญิงก็มักจะมีผมที่ยาว ถ้ารวบก็จะมีการประดับทรงผมด้วยปิ่นปักผม ลักษณะการแต่งกายของตัวละครถ้าใส่เสื้อผ้าก็มักจะเป็นชุดกิโมโน ซึ่งเป็นเอกลักษณประจำชาติของประเทศญี่ปุ่นอยู่และ หรือไม่ก็จะเปลือยกาย ไม่ใส่เสื้อผ้าเลยเหมือนกัน ในส่วนของฉากและพื้นหลังของภาพถ้าเป็นในร่ม อย่างเช่น ในห้อง ฉากก็มักจะเป็นห้องแบบญี่ปุ่น สังเกตได้จาก ผนังห้อง ชั้นวางของ และประตูซึ่งเป็นประตูแบบกระดาษที่มีมาตั้งแต่โบราณ และถ้าเป็นสถานที่กลางแจ้ง ก็จะมีทั้งในสวน ในทุ่งหญ้า และในเมือง ซึ่งมักจะใช้บรรยากาศในยามค่ำคืน

ดาวน์โหลด บทความวิจัย
icon-pdf