ลวดลายบนคันฉ่องสำริดในสมัยโคะฟุน

โดย นางสาวอภิวรรณ  ขุนจันทร์

บทคัดย่อ

การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทราบถึงที่มาและแนวความคิด ลักษณะลวดลาย ตลอดจนพัฒนาการของลวดลาย ซึ่งสอดคล้องกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์บนคันฉ่องสำริดในสมัยโคะฟุน ข้อมูลที่นำมาศึกษาและวิเคราะห์ในครั้งนี้เป็นการศึกษาค้นคว้าและเก็บรวบรวมจากหนังสือที่เกี่ยวข้องกับศิลปะของญี่ปุ่น จีน และเกาหลี รวมถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องจากอินเตอร์เน็ต โดยข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลของคันฉ่องสำริดในสมัยโคะฟุน จากนั้นนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์เพื่อศึกษาลวดลายที่ปรากฏบนคันฉ่องสำริด

ศิลปะในสมัยโคะฟุนได้รับอิทธิพลมาจากอารยธรรมของจีนและอารยธรรมของเกาหลีเข้ามาเป็นจำนวนมาก ทั้งเรื่องของการผลิตเครื่องโลหะ เครื่องปั้นดินเผา และตัวอักษรเป็นต้น อาจถือได้ว่าสมัยโคะฟุนนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่ทำให้ศิลปะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก คำว่า โคะฟุน (古墳 / Kofun) หมายถึง เนินสุสานโบราณที่เป็นของชนชั้นหัวหน้าเผ่า นักรบ และจักรพรรดิซึ่งในสมัยโคะฟุนนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างสมัยก่อนประวัติศาสตร์และสมัยประวัติศาสตร์ตอนต้น แม้สมัยดังกล่าวจะยังไม่มีตัวหนังสือใช้ แต่จากเอกสารจีนและจดหมายเหตุญี่ปุ่นตลอดจนผลงานศิลปะที่เหลืออยู่ทำให้เราได้ทราบความเป็นมาของชาวญี่ปุ่นในสมัยโคะฟุนได้ค่อนข้างแจ่มชัดผ่านทางงานศิลปะและหลักฐานที่เหลืออยู่

คันฉ่องสัมฤทธิ์ในสมัยโคะฟุนนี้ใช้ในความหมายที่เกี่ยวกับวิญญาณ ซึ่งอาจเป็นไดทั้งสัญลักษณ์ทางวิญญาณเป็นที่อยู่อาศัยของวิญญาณและเป็นเครื่องส่องแสงสว่าง นอกจากนี้ยังเป็นเครื่องแสดงฐานะชั้นสูงทางสังคมอีกด้วย ซึ่งคันฉ่องสัมฤทธิ์ที่ใช้เป็นเครื่องประดับสุสานเริ่มเสื่อมความนิยมลงตั้งแต่ศตวรรษที่5เป็นต้นไปเพราะส่วนที่ผลิตจากฝีมือช่างพื้นเมืองมีคุณภาพไม่ดีทั้งเนื้อวัสดุและฝีมือการผลิตทำให้มีขนาดเล็กลงแต่ทว่าลวดลายที่ปรากฏบนคันฉ่องเป็นสิ่งที่น่าศึกษาค้นคว้าเพราะสะท้อนให้เห็นถึงแนวความคิดของช่างฝีมือพื้นเมือง และก่อให้เกิดมโนภาพของสังคมในสมัยนั้น

ดาวน์โหลด บทความวิจัย
icon-pdf