ระบบการจัดการการศึกษาของประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทย

โดย นางสาวกุลทรัพย์ ทองประสิทธิ์

บทคัดย่อ

ประเทศญี่ปุ่น เป็นประเทศหนึ่งที่ประสบความสำเร็จทางด้านการพัฒนาการศึกษา ซึ่งการศึกษานี้จะเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ในการศึกษาครั้งนี้ได้ทำการศึกษาระบบการจัดการการศึกษาของประเทศญี่ปุ่นกับประเทศไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระบบการจัดการการศึกษาของประเทศญี่ปุ่น ผลการเปลี่ยนแปลงของการจัดการการศึกษาของประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทย และเพื่อเสนอแนะแนวทางการศึกษาของระบบการจัดการการศึกษาให้กับประเทศไทย โดยใช้ข้อมูลนโยบายทางการศึกษาของประเทศญี่ปุ่น ในช่วงปี ค.ศ.2001-2012 และข้อมูลตัวชี้วัดของ World Economic Forum ในช่วงปี ค.ศ.2006-2015 เป็นหลัก ผลจากการศึกษานี้สรุปได้ว่า ประเทศญี่ปุ่นมีการจัดการการศึกษาเป็น 3 ระดับ คือ การศึกษาระดับต้น ได้แก่ ระดับก่อนประถมศึกษา ระดับอนุบาล และระดับประถมศึกษา การศึกษาระดับกลาง ได้แก่ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย และระดับวิทยาลัยเทคนิค และการศึกษาระดับปลาย ได้แก่ ระดับมหาวิทยาลัยและระดับวิทยาลัย ประเทศญี่ปุ่นได้มีการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการการศึกษาอย่างต่อเนื่อง และส่งเสริมการศึกษา อีกทั้งยังสร้างความร่วมมือกับต่างประเทศ และมีการใช้แผนการปฏิรูปการศึกษาสำหรับคริสต์ศตวรรษที่ 21 และแผน “Japan! Rise Again!” เพื่อให้นักเรียนเรียนอย่างมีความสุข มุ่งพัฒนาทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจให้สามารถปรับตัวเข้ากับธรรมชาติและสังคม ทำให้ผลการเปลี่ยนแปลงการจัดการการศึกษาของประเทศญี่ปุ่นหลังการปฏิรูปและปรับปรุง มีพัฒนาการที่ดีขึ้นในด้านคุณภาพของระบบการศึกษา (Quality of Education System) โดยสังเกตจากตัวชี้วัดของ World Economic Forum ในช่วงปี ค.ศ.2006-2015 และมุ่งที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการเรียนรู้ด้วยตนเอง เพื่อใช้เป็นฐานในการเรียนรู้และพัฒนาชีวิต  โดยที่จะดำเนินการเชื่อมโยงทั้งครอบครัว และหน่วยงานภาครัฐที่อยู่ในระดับท้องถิ่น ให้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการด้วย ดังนั้นการที่จะประสบความสำเร็จทางด้านการพัฒนาการศึกษา จึงควรเกิดจากการร่วมมือกันในหลายองค์กร และการปฏิรูปนโยบายการจัดการการศึกษาจึงควรกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ให้สอดคล้องกับบริบททางสังคมของประเทศนั้นๆ เพื่อส่งผลต่อการพัฒนาทางด้านสังคมและเศรษฐกิจต่อไป

ดาวน์โหลด บทความวิจัย
icon-pdf