การศึกษาระดับความสุภาพในภาษาเกาหลี : กรณีศึกษาจากซีรีส์ทางโทรทัศน์

โดย นางสาวมณีณดา แท่นมณี

บทคัดย่อ

บทความวิจัยเล่มนี้ เป็นการศึกษาระดับความสุภาพในภาษาเกาหลี โดยมีซีรี่ส์ทางโทรทัศน์เป็นกรณีศึกษา มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสุภาพในภาษาเกาหลี โดยแบ่งเป็นการศึกษาความสุภาพในภาษาเกาหลีตามบริบททางสังคม และศึกษารูปแบบและปัจจัยที่ก่อให้เกิดการปรับระดับความสุภาพของภาษาเกาหลี เพื่อให้ทราบถึงความแตกต่างในการใช้ระดับความสุภาพในภาษาเกาหลีระดับต่างๆ ปัจจัยทางสังคมของเกาหลี และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการสนทนาภาษาเกาหลีในชีวิตประจำวันได้ โดยเก็บข้อมูลทั้งทฤษฎี กลวิธีด้านไวยากรณ์ และข้อมูลทางด้านสังคมของเกาหลี เพื่อนำมาวิเคราะห์กรณีศึกษาทั้ง 3 เรื่อง ประกอบด้วย 학교 2015  (โรงเรียน 2015), 용팔이 (หมอเถื่อนผู้เก่งกาจ), 두 번째 스물살 (อายุ 20 อีกครั้ง)

จากการศึกษาพบกลวิธีทางไวยากรณ์แบ่งเป็น 3 วิธีหลักๆ คือ 1) การยกย่องประธาน/หัวเรื่องของประโยค มีวิธีอยู่ 2 กลวิธี คือ การยกย่องประธานตามหลักไวยากรณ์ โดยการเติมวิภัคติปัจจัย ‘-(으)시’ ลงไปหลังรากศัพท์ในส่วนของภาคแสดง และการยกย่องประธานตามหลักไวยากรณ์ โดยการเติม/เปลี่ยนคำชี้แสดงหน้าที่ของคำในประโยคหลังคำศัพท์ที่จะยกย่อง 2) การยกย่องฝ่ายตรงข้าม/คู่สนทนา มีวิธีอยู่ 3 กลวิธี คือการเปลี่ยนคำลงท้ายประโยคตามระดับต่างๆ แบ่งได้ใหญ่ๆ 2 รูปแบบ คือ เป็นทางการ และไม่เป็นทางการ รูปแบบเป็นทางการนั้น แบ่งออกเป็น 4 ระดับ คือ ยกย่องมาก ยกย่องปกติ ไม่ยกย่องปกติ และไม่ยกย่องมาก รูปแบบไม่เป็นทางการ แบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ ยกย่อง และไม่ยกย่อง รูปแบบนี้จะใช้โดยการคำนึงถึง ความอาวุโส อายุ ตำแหน่ง และสถานะภาพของคู่สนทนาเมื่อเปรียบเทียบกับสถานะของผู้พูด โดยส่วนใหญ่ในชีวิตประจำวันนิยมใช้รูปแบบไม่เป็นทางการ กลวิธีที่ 2 คือ การยกย่องคู่สนทนาโดยการใช้คำแสดงความเห็นด้วยแบ่งเป็น 2 ระดับ คือยกย่องและไม่ยกย่อง และสุดท้ายการยกย่องคู่สนทนาโดยการเปลี่ยนคำบุรุษสรรพนาม 3) การยกย่องโดยการใช้คำศัพท์พิเศษ โดยจะมีคำศัพท์บางคำที่สามารถใช้แทนคำศัพท์ปกติเพื่อยกย่อง และไม่ยกย่องได้

การศึกษารูปแบบการใช้ภาษาและปัจจัยที่มีผลต่อการแสดงความสุภาพในภาษาเกาหลี พบว่า 1) รูปแบบการใช้ภาษาจะต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในบริบทการสื่อสาร โดยพบว่าจะต้องคำนึงถึงสถานการณ์ ว่าสถานการณ์นั้นเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการ เพื่อเลือกใช้คำที่เหมาะสมกับสถานการณ์ และคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในระดับต่างๆโดยใช้อายุ สถานะทางสังคม ตำแหน่ง และความอาวุโสเป็นเกณฑ์ในการเลือกใช้ความสุภาพ 2) ปัจจัยที่มีผลต่อการใช้ภาษาแสดงความสุภาพต่างๆ พบว่ามี เพศ อายุ และสถานะทางสังคมเป็นปัจจัยในการใช้ความสุภาพ

การศึกษาความสุภาพในภาษาเกาหลี โดยมีซีรี่ส์ทางโทรทัศน์ของเกาหลีเป็นกรณีศึกษาทำให้พบว่า โดยส่วนใหญ่แล้ว ในชีวิตประจำวันคนเกาหลีมักใช้รูปแบบไม่เป็นทางการที่สามารถพูดได้เร็วและไม่ซับซ้อน เพราะความเปลี่ยนแปลงไปทางสังคมที่ต้องการความรวดเร็วแบบสังคมสมัยใหม่ แต่ก็ยังคงให้ความสำคัญกับการใช้ความสุภาพในภาษามาก การเปลี่ยนระดับของภาษาเมื่อสนทนากับบุคคลที่แตกต่างระดับ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นธรรมชาติ โดยการพูดสุภาพกับผู้อาวุโสเป็นสิ่งที่พึงปฏิบัติ ทั้งนี้ในการแบ่งระดับความสุภาพแบบเป็นทางการ การยกย่องปกติ และไม่ยกย่องปกติ มีคนใช้เป็นส่วนน้อย นอกจากนี้ยังพบว่าเพศ และอาชีพก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งในการเลือกใช้รูปแบบการลงท้ายของคำ การเลือกใช้ระดับความสุภาพของภาษา จากการศึกษาทั้งหมดทำให้ตระหนักว่า การเรียนภาษาเกาหลีนั้นจำเป็นจะต้องเข้าใจทั้งด้านไวยากรณ์ และด้านวัฒนธรรมควบคู่กันไป เพื่อที่จะเข้าใจ และใช้ภาษาเกาหลีได้อย่างถูกต้องเหมาะสม และเป็นธรรมชาติแบบคนเกาหลีให้ได้มากที่สุด

ดาวน์โหลด บทความวิจัย
icon-pdf