มุมมองต่อสงครามมหาเอเชียบูรพาจากสายตาของเชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตรระหว่างการเกิดสงครามและหลังสงครามกรณีศึกษาจากนายอิริค โลแมกซ์

โดย  นางสาวกุลริศา เบ็ญจคาร บทคัดย่อ การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาทัศนคติและมุมมองของเชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตรที่มีต่อกองทัพญี่ปุ่นในระหว่างสงครามและภายหลังการสิ้นสุดสงคราม โดยจะศึกษาทัศนคติและมุมมองของนายอีริค โลแมกซ์ อดีตทหารสื่อสารของกองทัพอังกฤษที่ถูกจับไปเป็นเชลยศึกที่จังหวัดกาญจนบุรีในสงครามมหาเอเชียบูรพา โดยศึกษาจากเอกสารต่างๆที่เกี่ยวข้องกับสงครามมหาเอเชียบูรพาและที่เกี่ยวข้องกับนายอีริค โลแมกซ์ ผู้ศึกษาแบ่งการวิเคราะห์มุมมองของนายอีริค โลแมกซ์เป็นสองช่วงคือ ช่วงที่เขาเข้าร่วมสงครามจนถึงตอนถูกจับเป็นเชลยศึกและช่วงหลังจากสงครามสิ้นสุดลงและนำมาเปรียบเทียบกัน จากการศึกษาค้นคว้าพบว่ามุมมองของอีริค โลแมกซ์ช่วงที่เข้าร่วมสงครามและถูกจับเป็นเชลยศึก มีมุมมองว่ากองทัพญี่ปุ่นไร้ซึ่งมนุษย์ธรรมทำให้มีอคติต่อประเทศญี่ปุ่น คิดว่าประเทศญี่ปุ่นคือความชั่วร้าย มุมมองของอีริค โลแมกซ์เป็นเช่นนี้จนถึงช่วงแรกที่สงครามสิ้นสุดลง แต่เมื่อเวลาผ่านไป 50 ปี มุมมองของอีริค โลแมกซ์แตกต่างจากช่วงที่เข้าร่วมสงครามจนถึงถูกจับเป็นเชลยศึกโดยสิ้นเชิง โดยอีริคมีมุมมองที่ดีต่อคนญี่ปุ่นมากขึ้น และมองว่าทุกคนฝ่ายล้วนตกเป็นเหยื่อของสงคราม ทางออกที่ดีที่สุดคือการไม่ยึดติดกับอดีตและให้อภัยซึ่งกันและกัน ดาวน์โหลด บทความวิจัย

วิเคราะห์เปรียบเทียบการใช้กลยุทธ์ของขงเบ้ง ในวรรณกรรมเรื่อง สามก๊ก กับ 36 กลยุทธ์แห่งชัยชนะ

โดย  นางสาวอักษราภัค กมลพัฒนะ บทคัดย่อ การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบการใช้กลยุทธ์ของขงเบ้งในวรรณกรรมเรื่อง “สามก๊ก” กับตำราพิชัยสงคราม  36  กลยุทธ์แห่งชัยชนะ  โดยเลือกวิธีการศึกษาแบบวิจัยเอกสาร  และใช้วิธีการนำเสนอเชิงพรรณนา  รวมทั้งอธิบายจากข้อมูลทุติยภูมิ  ซึ่งจะอาศัยหลักฐานด้านเอกสารและผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง  อันได้แก่  ความหมายของกลยุทธ์และพิชัยสงคราม 36  กลยุทธ์แห่งชัยชนะวรรณกรรมเรื่อง  “สามก๊ก” ประวัติความเป็นมาของขงเบ้งและผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง จากการศึกษาการใช้กลยุทธ์ของขงเบ้งในวรรณกรรมเรื่อง “สามก๊ก” กับตำราพิชัยสงคราม  36 กลยุทธ์แห่งชัยชนะ  ผู้วิจัยพบว่า  กลยุทธ์ที่ขงเบ้งเลือกใช้นั้นมีความสอดคล้องกับ  36  กลยุทธ์จำนวนทั้งสิ้น  16  กลยุทธ์   คือกลยุทธ์ล้อมเว่ยช่วยเจ้า  กลยุทธ์ยืมดาบฆ่าคน  กลยุทธ์รอซ้ำยามเปลี้ย  กลยุทธ์มีในไม่มี     กลยุทธ์ลี่ตายแทนถาว  กลยุทธ์ล่อเสือออกจากถ้ำ  กลยุทธ์แสร้งปล่อยเพื่อจับ  กลยุทธ์ถอนฟืนใต้กระทะ    กลยุทธ์กวนน้ำจับปลา  กลยุทธ์จักจั่นลอกคราบ  กลยุทธ์ชี้ต้นหม่อนด่าต้นไหว  กลยุทธ์ขึ้นบ้านชักบันได  กลยุทธ์กลเปิดเมือง  กลยุทธ์กลไส้ศึก  กลยุทธ์กลลูกโซ่  และกลยุทธ์หนีคือยอดกลยุทธ์  โดยใน  36  กลยุทธ์แห่งชัยชนะ  กลยุทธ์ที่ขงเบ้งนำมาใช้ในการศึกมากที่สุด  คือกลยุทธ์ขึ้นบ้านชักบันไดและกลยุทธ์ลูกโซ่  เนื่องจากทั้งสองกลยุทธ์นี้เป็นกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพมาก  สามารถนำไปใช้ได้ในภาวะที่ต้องการรุกเพื่อโจมตีและกำจัดข้าศึกให้หมดสิ้น  หรือจะใช้ในภาวะที่เราคับขันเข้าตาจนทั้งด้านกำลังพลและเสบียง  จนต้องหาหนทางถอยหนีก็สามารถนำมาใช้ได้เช่นกัน … Read more

ทุนทางร่างกายกับการประกอบอาชีพของชาวเกาหลีใต้

โดย  นางสาวลดาวรรณ จิตรเกษม บทคัดย่อ การวิจัยเรื่องทุนทางร่างกายกับการประกอบอาชีพของชาวเกาหลีใต้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะทุนร่างกายกับการประกอบอาชีพของชาวเกาหลีใต้ และศึกษาวิธีการดูแลและสร้างทุนร่างกายของดาราเกาหลีใต้ในแต่ละช่วงเวลา โดยมีวิธีดำเนินการวิจัย คือ ศึกษาจากแหล่งข้อมูลเอกสาร ข่าว บทความ งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และนำแนวคิดทางสังคมศาสตร์มาใช้ในการวิเคราะห์ ผลการศึกษาแบ่งลักษณะทุนทางร่างกายกับการประกอบอาชีพเป็น 3 ยุค คือ ยุคร่างกายกับความแข็งแรง ที่เป็นยุคของแรงงานอุตสาหกรรม , ยุคของร่างกายกับสติปัญญา ที่เป็นยุคของการใช้ความรู้ความสามารารถ และสุดท้ายคือ ยุคร่างกายกับความงาม ที่เกิดขึ้นภายใต้กระแสของ Korean Wave ที่เป็นยุคของศิลปินดารา อาชีพบริการต่างๆ ที่ต้องใช้รูปลักษณ์หน้าตาในการทำงาน ส่วนวิธีการดูแลและสร้างทุนทางร่างกายของศิลปินดาราเกาหลีใต้ แบ่งเป็น 2 ยุค คือ ยุคแรกเน้นการดูแลร่างกายโดยการใช้เครื่องสำอาง เนื่องจากเทคโนโลยียังไม่เจริญก้าวหน้า ทำให้การคัดเลือกศิลปินดาราจะเลือกคนที่สวยหล่อเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่ยุคหลังเน้นใช้วิธีสร้างร่างกายขึ้นใหม่ เนื่องจากเทคโนโลยีการแพทย์มีความก้าวหน้าเพิ่มขึ้น ดังนั้น การคัดเลือกศิลปินดาราจึงเปลี่ยนมาเลือกคนที่ความสามารถ ส่วนรูปร่างหน้าตาค่อยสร้างขึ้นใหม่ภายหลังโดยการทำศัลยกรรม ด้วยระบบทุนนิยมชายเป็นใหญ่ ทำให้ศิลปินดาราทั้งหญิงและชายกลายสภาพเป็นสินค้าที่เน้นขายภาพลักษณ์ความงาม ดังนั้นจึงมีการจัดการกับร่างกายที่ต้องใช้ทั้งเงินทั้งเวลา ในปัจจุบันความงามไม่ใช่แค่เรื่องของผู้หญิง แต่ผู้ชายก็ตกเป็นเหยื่อของการบริโภคสินค้าความงามเช่นกัน และเมื่อพิจารณาถึงทัศนะความงามในเกาหลีใต้ พบว่า เป็นชุดความงามภายใต้วัฒนธรรมตะวันตก โดยมีอาชีพศิลปินดาราทำหน้าที่ผลิตซ้ำชุดความงามแล้วถ่ายทอดไปสู่คนทั่วไป ดังนั้น ค่านิยมความงามจึงมีมาตรฐานเป็นแบบเดียวกัน … Read more

นโยบายต่างประเทศของญี่ปุ่นและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

โดย  นางสาวจุฬาลักษณ์ บางยี่ขัน บทคัดย่อ การศึกษานโยบายต่างประเทศของญี่ปุ่นและความมั่นคงนั้น เป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างมากต่อประเทศญี่ปุ่น เพราะเป็นการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศญี่ปุ่นกับประเทศและภูมิภาคต่างๆ ซึ่งมีความสำคัญต่อเวทีโลก อีกทั้งมีบทบาทต่อประชาคมโลกไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือทางด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจ ที่อาจส่งผลรองลงมาจากประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา จีน เกาหลีใต้ ที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกัน  นโยบายต่างประเทศของญี่ปุ่นและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในปัจจุบัน มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษานโยบายด้านต่างประเทศของประเทศญี่ปุ่นในอดีตตั้งแต่การดำเนินการข้อเสนอของนาคายามาจนถึงปัจจุบัน และศึกษาการดำเนินนโยบายต่างประเทศและความร่วมมือแบบพหุภาคีของประเทศญี่ปุ่นกับประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้แก่ ประเทศจีน เกาหลีใต้ อนุภูมิภาคอาเซียน และสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน  รวมถึงเพื่อศึกษาความมั่นคงภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่มีผลมาจากการเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์ด้านต่างประเทศของญี่ปุ่นในปัจจุบันผลการศึกษาพบว่า นโยบายต่างประเทศของประเทศญี่ปุ่นและความมั่นคงนั้น ในการกำหนดนโยบายต่อประเทศคู่สัมพันธ์ประเทศต่างๆ พยายามดำเนินนโยบายต่างประเทศโดยมุ่งถึงความอยู่รอดปลอดภัยของประเทศชาติเป็นสำคัญ และคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศตนเอง แต่ต้องดำเนินไปในความสงบ ไม่ก่อให้เกิดสงครามหรือความเสียหายที่จะส่งผลต่อประเทศตนเองหรือภูมิภาคที่มีความเกี่ยวข้อง และความพยายามที่จะทำให้ประเทศตนเองมีเอกราช ประเทศญี่ปุ่นในปัจจุบันมุ่งเน้นกระชับความสัมพันธ์กับประเทศพันธมิตร เพื่อความมีเสถียรภาพทางการเมืองโลกและความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ดาวน์โหลด บทความวิจัย

ทัศนคติด้านลบของคนไทยที่มีต่อนักท่องเที่ยวจีนในปัจจุบัน

โดย  นายชัยยงค์ ดีพุ่ม บทคัดย่อ สารานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งสำรวจทัศนคติของคนไทยต่อนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาเที่ยวในประเทศไทย และศึกษาที่มาของทัศนคติดังกล่าว ผู้ศึกษาสำรวจโดยใช้แบบสอบถามและสัมภาษณ์กลุ่มประชากร 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มนักศึกษาภาษาจีน กลุ่มนักศึกษาที่ไม่ได้ศึกษาภาษาจีน และบุคลากรประจำสนามบิน ทั้งนี้ มีผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 271 คน และผู้ให้สัมภาษณ์จำนวน 9 คน ผลการศึกษาสรุปได้ว่า หนึ่ง ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่  (ร้อยละ 42 ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด) มีทัศนคติด้านลบต่อนักท่องเที่ยวชาวจีน บางส่วนมีประสบการณ์ตรงที่ได้พบเห็นพฤติกรรมของนักท่องเที่ยว เช่น ส่งเสียงดัง ไม่เคารพกฎระเบียบตามสถานที่ท่องเที่ยว ไม่รักษาความสะอาดในที่สาธารณะ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในวัฒนธรรมไทย  สอง ผู้ให้สัมภาษณ์ส่วนใหญ่ขาดความเข้าใจและไม่ยอมรับวัฒนธรรมของชาวจีน ทั้งไม่ตระหนักว่าระบอบการปกครองของประเทศจีนที่แตกต่างจากประเทศไทย มีส่วนให้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวจีนแตกแต่งจากชาวไทยไปด้วย  สาม สื่อไทยมีส่วนสร้างทัศนคติด้านลบต่อนักท่องเที่ยวจีน ผู้ตอบแบบสอบถามและผู้ให้สัมภาษณ์หลายคนไม่มีประสบการณ์ตรงในการพบปะนักท่องเที่ยวจีนแต่รู้สึกไม่ชอบนักท่องเที่ยวชาวจีนเพราะเชื่อตามการรายงานของสื่อ ประเด็นสุดท้าย ถึงแม้ผู้ตอบแบบสอบถามและผู้ให้สัมภาษณ์ส่วนใหญ่จะมีทัศนคติด้านลบต่อนักท่องเที่ยวจีน แต่ต่างสนับสนุนให้นักท่องเที่ยวจีนเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยเพราะมีประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยบางส่วนยังเล็งเห็นเฉพาะผลประโยชน์ แต่ไม่เปิดใจยอมรับที่จะอยู่ร่วมกับวัฒนธรรมอื่นอย่างแท้จริง ซึ่งทัศนคติเช่นนี้อาจก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งทางสังคมที่รุนแรงมากขึ้นในบริบทของการรวมกลุ่มประเทศอาเซียนที่มีการเปิดพรมแดนให้มีการเดินทางแลกเปลี่ยนและผสมผสานทางวัฒนธรรมมากกว่าในอดีต ดาวน์โหลด บทความวิจัย

การนำเสนอการท่องเที่ยวของเมืองไทเป

โดย  นางสาวจิดาภา ชูชัยโชคไพศาล บทคัดย่อ งานวิจัยเรื่องการนำเสนอการท่องเที่ยวของเมืองไทเปมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา ลักษณะการท่องเที่ยวของเมืองไทเป และการนำเสนอการท่องเที่ยวของเมืองไทเป มีวิธีการรวบรวมข้อมูล จากเอกสารทางวิชาการและการเก็บข้อมูลภาคสนามที่ไทเป ผลการวิจัยพบว่า จากบริบททางสังคมที่เปลี่ยนไปทำให้ลักษณะการท่องเที่ยวของไทเปและการนำเสนอการท่องเที่ยวมีการเปลี่ยนแปลงไป โดยได้ แบ่งออกเป็นยุคทั้งหมด4 ยุค ยุคแรก ยุคของอุตสาหกรรมไทเปเปลี่ยนแปลงของภาคการผลิตจากประเทศจากอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ทำให้ลักษณะการท่องเที่ยวเพื่อการติดต่อธุรกิจค้าขาย โดยรัฐบาลได้ใช้สื่อโฆณาในการนำเสนอ ในยุคที่2 ยุคของเทคโนโลยี การเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น เดินทางเข้ามากับกลุ่มทัวร์ สถานที่ท่องเที่ยวที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย กิจกรรมทางวัฒนธรรมที่มีชื่อเสียงเป็น land mark รัฐบาลและบริษัททัวร์ มีการนำเสนอผ่านทางเว็ปไซด์ และสื่อต่างๆเพิ่มมากขึ้น ทำให้การท่องเที่ยวของเมืองไทเป เริ่มเป็นที่รู้จัก ส่วนยุคที่3 ยุคผสมผสาน กลุ่มนักท่องเที่ยวเริ่มมีหลากหลาย โดยเฉพาะวัยรุ่นเดินทางเข้ามาเอง โดยความต้องการเข้ามาสัมผัสธรรมชาติ และเห็นความทันสมัยของบ้านเมือง ซึ่งเน้นความสะดวกสบายและความปลอดภัยของการเดินทาง ที่พัก นักท่องเที่ยวนำเสนอผ่านทางการเขียนหนังสือรีวิว เป็นการแนะนำให้ความสำคัญของสถานที่ต่างๆ และสถานที่ๆเป็น land mark ของไทเป ส่วนยุคสุดท้าย ยุคกระแสนิยม นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวด้วยตัวเอง (backpack) นิยมไปในสถานที่ๆเป็นธรรมชาติ และยังไปคาเฟ่ที่มีความเป็นโลกเสมือนจริง (Hyper reality) รวมถึงมีการใช้ตัวการ์ตูนคิตตี้ในการนำเสนอทั้งในรถไฟ เครื่องบิน … Read more

ผู้หญิงชนชั้นนำกับการมีอำนาจทางการเมืองเกาหลีใต้

โดย  นางสาวญาดา ปลื้มบุญ บทคัดย่อ สารนิพนธ์ฉบับนี้ศึกษาเกี่ยวกับผู้หญิงชนชั้นนำกับการมีอำนาจทางการเมืองเกาหลีใต้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบริบททางสังคมกับการเป็นผู้นำทางการเมืองของสตรีชนชั้นนำของเกาหลีใต้ และเพื่อศึกษาความเป็นผู้หญิงในการเมืองของ ฮัน มยองซุก ละ ปาร์ค กึนฮเย โดยการศึกษาจากเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ผลการศึกษาพบว่า บริบททางสังคมที่ทำให้ฮัน มยองซุก และปาร์ค กึนฮเยสามารถเข้าไปมีอำนาจทางการเมืองได้นั้น มี 4 บริบท ได้แก่ บริบทภายนอกประเทศที่ส่งผลต่อบริบทภายในประเทศเกาหลี ทำให้เกิดการปฏิรูปและแก้ไขกฎหมายเพื่อสิทธิสตรีในเกาหลีใต้ สองบริบทนี้ส่งผลต่อการเข้าไปมีบทบาทในกิจกรรมทางด้านการเมืองของผู้หญิงชนชั้นนำ นอกจากนี้บริบทภายในครอบครัว รวมไปถึงบริบทที่เกี่ยวกับตัวผู้นำเองก็เป็นส่วนสำคัญต่อการสร้างความน่าเชื่อถือเพื่อให้ตนเองถูกรวมเข้าไปอยู่ในพื้นที่ทางการเมือง และพบว่า เมื่อฮัน มยองซุก และปาร์ค กึนฮเยเข้าสู่พื้นที่ทางการเมือง ทั้งสองต้องรับกติกาและวิถีปฏิบัติแบบผู้ชายในพื้นที่ทางการเมืองซึ่งเป็นพื้นที่ของผู้ชาย เพราะกติกาและวิถีปฏิบัติเหล่านี้มีผลต่อการสร้างความน่านับถือและสร้างความไว้วางใจให้กับตนเอง การทำตัวเองให้มีลักษณะแบบผู้ชาย เช่น การแต่งกาย ลีลาการทำงาน เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ตัวผู้นำเองไม่แปลกแยกและสามารถถูกรวมเข้าไปอยู่ในพื้นของผู้ชาย แม้สถานภาพของผู้หญิงเกาหลีใต้จะถูกพัฒนาจนผู้หญิงสามารถเข้าไปมีบทบาทในทางการเมืองได้ แต่ถึงอย่างไรก็ตามผู้หญิงก็ยังคงต้องอยู่ภายใต้กติกาของสังคมชายเป็นใหญ่ ดาวน์โหลด บทความวิจัย

นิยามความงามของผู้หญิงเกาหลีศึกษาผ่านบิวตี้บล็อกเกอร์

โดย  นางสาวกชกร แตงสมุทร์ บทคัดย่อ บทความวิจัยเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์ 2 ประการคือ เพื่อศึกษาลักษณะของความงามที่แตกต่างหลากหลาย โดยวิเคราะห์ผ่านการแต่งหน้าของบล็อกเกอร์ชาวเกาหลีที่เป็นที่นิยม และวิเคราะห์ค่านิยมและความหมายเกี่ยวกับความงามในสังคมเกาหลี ผลการศึกษาพบว่า ในการแต่งหน้าของบล็อกเกอร์ มีทั้งจุดที่เหมือนกันและต่างกัน มีความงามได้หลายแบบ ขึ้นอยู่กับปัญหาหรือจุดบกพร่องของใบหน้าที่ต้องการจะแก้ไข และเอกลักษณ์แต่ละคน เนื่องด้วยรูปแบบของการแต่งหน้าที่ขึ้นอยู่กับโอกาส และสถานที่ และสไตล์การแต่งหน้าที่แต่งแต่ดูเหมือนไม่แต่ง การสร้างมิติให้แก่ใบหน้าอย่างเป็นธรรมชาติ การใช้โทนสีที่ไม่เข้มมาก เหล่านี้กลายเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของความงามแบบเกาหลี มีการทำตามกันอย่างแพร่หลายจนกลายเป็นค่านิยมความงามของผู้หญิงเกาหลีหรือที่เรียกกันว่า “K-Beauty” จากการวิเคราะห์ค่านิยมของผู้หญิงเกาหลีผ่านบิวตี้บล็อกเกอร์จะเห็นได้ว่า”ความงาม” มีความสำคัญต่อภาพลักษณ์ของคนในปัจจุบัน มีหลายรูปแบบตามความชอบและความนิยม ซึ่งความงามสามารถออกแบบได้ ค่านิยมเหล่านี้อาจเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แต่เมื่อเวลาผ่านไปค่านิยมที่เคยได้รับการยอมรับจากคนในสังคม ย่อมสามารถกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งได้เช่นกัน ดาวน์โหลด บทความวิจัย

ความเป็นครอบครัวผ่านละครเรื่อง Kaseifu no mita

โดย  นางสาววสุรัตน์ ฐิติรัตน์เอกลาภ บทคัดย่อ สารนิพนธ์เรื่อง ความเป็นครอบครัวจากละครเรื่องKaseifu no mita มีวัตุประสงค์เพื่อศึกษาความเป็นครอบครัว และวิธีการนำเสนอภาพตัวแทน โดยเก็บข้อมูลจากเอกสารต่างๆ ข้อมูลออนไลน์และจากละคร ผลการศึกษาพบว่า ละครพูดถึงความเป็นครอบครัวออกเป็น 2 รูปแบบ คือครอบครัวขาดแม่ และครอบครัวขาดพ่อ โดยที่ครอบครัวที่ขาดแม่นั้น พ่อจะต้องเป็นผู้นำที่ดี สามารถปกป้องลูกๆได้ และมีการตัดสินใจที่เด็ดขาด ส่วนลูกๆ ก็ต้องรู้จักเติบโต ทั้งในด้านความคิด พฤติกรรมและทำหน้าที่ของตน ไม่ว่าจะเป็นพี่คนโตหรือน้องเล็กก็ตาม เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของผู้เป็นพ่อด้วย ส่วนครอบครัวที่ขาดพ่อนั้น แม่จะต้องทำตัวให้เป็นผู้นำ และตัวอย่างที่ดีของลูก อีกทั้งต้องสั่งสอนลูกให้ทำสิ่งที่ถูกต้องได้ นอกจากนี้การที่เป็นครอบครัวขาดแม่ หรือขาดพ่อนั้น ยังทำให้เกิดปัญหาต่างๆตามมาไม่แตกต่างกัน ทั้งปัญหาด้านบุคลิกภาพของลูก อย่างการกลายเป็นเด็กโกหกเพื่อเรียกร้องความสนใจจากพ่อแม่  การกลายเป็นเด็กเกเร รวมถึงการโหยหาความรักจากผู้อื่น จากการที่ครอบครัวของตนมีปัญหากันไม่รักใคร่กัน และปัญหาเหล่านี้ก็ส่งผลให้เด็กนั้นรู้สึกแปลกแยกและส่งผลให้เกิดปัญหาในการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น ทำให้ถูกผู้อื่นกลั่นแกล้ง ผลการเรียนแย่ลง ในท้ายที่สุดแล้ว อาจจะหาทางออกด้วยวิธีการที่ผิด เช่นการฆ่าตัวตาย เป็นต้น แต่ทั้งนี้ก็ยังมีวิธีการแก้ไขปัญหาครอบครัวที่หลากหลาย อย่างการยกลูกให้ญาติที่มีความพร้อมอุปการะ หรือการแต่งงานใหม่ เพื่อเป็นการเติมเต็มความเป็นครอบครัว ให้กลายเป็นครอบครัวที่อบอุ่น สำหรับวิธีการนำเสนอภาพตัวแทนนั้น ผู้สร้างได้มีการใช้รหัสต่างๆอย่างจำนวนสมาชิกและความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว อาชีพ … Read more

การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในองค์กรญี่ปุ่น: กรณีศึกษา บริษัทฮอนด้า ประเทศไทย

โดย  นายพัสวีร์ ธีระศิลป์ บทคัดย่อ สารานิพนธ์ฉบับนี้ จัดทำขึ้นเพื่อศึกษาระบบการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ของบริษัทญี่ปุ่น จากการที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีทรัพยากรอยู่อย่างจำกัดมากๆทั้งทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรมนุษย์ อีกทั้งยังเป็นประเทศที่เคยแพ้สงครามและสูญเสียสิ่งต่างๆมากมายจากการแพ้สงคราม แต่กลับพัฒนาได้อย่างรวดเร็วจนเป็นประเทศพัฒนาแล้วอันดับต้นๆของโลก จากความรวดเร็วในการพัฒนานี้เองทำให้นักบริหารจากทั่วโลก ให้ความสนใจกับประเทศญี่ปุ่นเป็นอย่างมากและจากการศึกษาสรุปผลการศึกษาได้ว่าการบริหารทรัพยากรมนุษย์แบบญี่ปุ่นนั้นเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพสูงเมื่อใช้อยู่บนพื้นฐานสังคมของประเทศญี่ปุ่นเนื่องมาจากทั้งค่านิยมในสังคมและความคิดความเชื่อลักษณะนิสัยของคนญี่ปุ่นที่สนับสนุนระบบนี้ได้เป็นอย่างดี แต่เมื่อนำระบบนี้เข้ามาใช้ในประเทศอื่นๆอย่างเช่นในประเทศไทย ย่อมต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของระบบให้เข้ากับรูปแบบของสังคมและวัฒนะธรรม จึงทำให้ไม่ได้เป็นการบริหารแบบญี่ปุ่นอย่างเต็มลักษณะแต่เป็นการบริหารแบบผสมที่มีความเป็นสากลมากขึ้นเพื่อการนำไปใช้ในประเทศต่างๆ ดาวน์โหลด บทความวิจัย

อัตลักษณ์กับวัฒนธรรมการสูบบุหรี่ของคนญี่ปุ่น

โดย  นางสาวณิชกานต์ อัคราลีกุล บทคัดย่อ สารนิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการสูบบุหรี่ของคนญี่ปุ่น และการสูบบุหรี่กับอัตลักษณ์ของผู้สูบบุหรี่ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน โดยศึกษาผ่านการ์ตูน และฐานข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต แล้วนำแนวคิดทฤษฎีทางสังคมศาสตร์มาใช้ประกอบการวิเคราะห์ ผลการศึกษาพบว่าวัฒนธรรมและอัตลักษณ์การสูบบุหรี่ของคนญี่ปุ่นแบ่งได้เป็น 4 ยุค ดังนี้ ยุคที่ 1 คือ ยุคเริ่มต้นวัฒนธรรมการสูบบุหรี่ของจักรพรรดิและขุนนาง (ค.ศ.1877 – ค.ศ.1903) กลุ่มผู้สูบบุหรี่เป็นเพศชาย ชนชั้นสูงจะสูบบุหรี่ที่ทำขึ้นเป็นพิเศษ ชนชั้นกลางจะสูบบุหรี่ของในประเทศ สถานที่จำหน่ายบุหรี่แต่ละยี่ห้อจะแตกต่างกันออกไป พื้นที่สูบและทิ้งบุหรี่ไม่มีการจัดอย่างชัดเจน และสูบบุหรี่เพื่อเป็นตัวแทนแสดงความกล้าหาญ ความเก่ง และบ่งบอกชนชั้นทางสังคม ยุคที่ 2 คือ ยุคการเข้ามาของบุหรี่ต่างประเทศ (ค.ศ.1903 – ค.ศ.1982) เพศชายชนชั้นกลางและชนชั้นล่างนิยมสูบไปป์และบุหรี่ เริ่มใช้ตู้ขายบุหรี่อัตโนมัติ ไม่มีการแบ่งพื้นที่สูบบุหรี่แต่ใช้ที่เขี่ยบุหรี่บางพื้นที่ ผู้คนสูบบุหรี่เพื่อบ่งบอกรสนิยม ความทันสมัยผ่านยี่ห้อที่ใช้สูบ และบ่งบอกว่าเป็นคนจริงจังกับงาน ยุคที่ 3 คือ ยุคบุหรี่สำหรับผู้หญิง (ค.ศ.1982 – ค.ศ.2006) เพศหญิงเริ่มหันมาสูบบุหรี่ บุหรี่แต่ละยี่ห้อเริ่มมีหลากหลายคุณสมบัติมากขึ้น เช่น กลิ่น รสชาติ เมนทอล สถานที่จำหน่ายบุหรี่มีจำนวนมากขึ้น … Read more

การกลายเป็นสินค้าของพิธีศพในญี่ปุ่น

โดย  นางสาวชนานันท์ ก๋องมั่ง บทคัดย่อ งานศึกษาวิจัยชิ้นนี้มุ่งศึกษาถึงสิ่งที่เป็นตัวจำแนกว่าอะไรที่บ่งบอกว่าพิธีศพในญี่ปุ่นได้ถูกแปรสภาพให้กลายเป็นสินค้า และ ยังศึกษาถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการกลายเป็นสินค้าของพิธีศพ โดยอาศัยการวิเคราะห์จากข้อมูลของการจัดพิธีศพในอดีตและในปัจจุบัน นอกจากนี้ในส่วนของผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นก็ได้อาศัยการวิเคราะห์จากข้อมูลของธุรกิจต่างๆที่เกิดขึ้นหลังจากที่มีธุรกิจรับจัดงานศพ จากการศึกษาพบว่าสิ่งที่บ่งบอกถึงว่าพิธีศพได้ถูกเปลี่ยนเป็นสินค้าแล้วคือ การที่มีบริษัทเอกชนเข้ามาให้บริการรับจัดพิธีศพแทนเจ้าภาพหรือญาติของผู้ตาย โดยบริษัทเอกชนเหล่านี้จะดำเนินการทุกอย่างแทนญาติของผู้ตายตั้งแต่เริ่มย้ายศพออกจากโรงพยาบาลไปจนถึงขั้นตอนสุดท้าย และผลกระทบที่เกิดขึ้นก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือเกิดธุรกิจรูปแบบใหม่ที่เกี่ยวข้องกับความตายมากขึ้น นอกจากนี้แล้วยังก่อให้เกิดการจ้างงานมากขึ้นอีกด้วย ส่วนข้อเสียคือผู้คนต้องเสียเงินจำนวนมากในการจัดงานศพ และเมื่อการรับจัดงานศพมีมากขึ้นก็จะทำให้คนรุ่นหลังไม่ใส่ใจการจัดงานศพที่ถูกต้อง อาจทำให้พิธีศพที่ถูกต้อง ถูกลดทอนความสำคัญลงไป ดาวน์โหลด บทความวิจัย

ความเป็นวัยรุ่นผ่านภาพยนตร์เรื่อง All about Lilly Chou Chou

โดย  นางสาวกิตติยา เลี้ยงพาณิชย์ บทคัดย่อ การวิจัยเรื่องความเป็นวัยรุ่นผ่านภาพยนตร์เรื่อง All about Lilly Chou Chou มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะความเป็นวัยรุ่น และศึกษาวิธีการสร้างภาพตัวแทนความเป็นวัยรุ่นผ่านภาพยนตร์เรื่อง All about Lilly Chou Chou โดยมีวิธีดำเนินงานวิจัยโดยการดูภาพยนตร์เรื่อง All about Lilly Chou Chou การอ่านบทความ บทวิจารณ์ภาพยนตร์ต่างๆ และนำแนวคิดทางสังคมศาสตร์มาใช้ในการวิเคราะห์ โดยผลการการศึกษาสามารถแบ่งลักษณะของวัยรุ่นออกได้ 5 ซึ่งลักษณะของวัยรุ่นที่ดี คือ เพศชายที่ฐานะดีและครอบครัวอบอุ่น เพศชายที่ฐานะไม่ดีแต่ครอบครัวอบอุ่น และเพศหญิงที่ฐานะดีและครอบครัวอบอุ่น ส่วนวัยรุ่นที่ไม่ดี คือ เพศชายที่ฐานะไม่ดีและครอบครัวไม่อบอุ่น และเพศหญิงที่ฐานะดีแต่ครอบครัวไม่อบอุ่น วิธีการนำเสนอภาพตัวแทน จะใช้พฤติกรรมแสดงถึงนิสัยของวัยรุ่น ใช้ความสนิทสนมกับคนในครอบครัวแสดงถึงครอบครัว ใช้สิ่งแวดล้อม ข้าวของเครื่องใช้แสดงถึงฐานะ และแฝงสัญญะความเป็นวัยรุ่นที่ถูกตีกรอบจากการแต่งกายชุดนักเรียน มีสิ่งบันเทิงคือเพลงและอินเตอร์เน็ต มีโรงเรียนเป็นสถานที่ที่ควรอยู่ ไร้อิสระ มีทุ่งหญ้า ทะเล คอนเสิร์ต เป็นสถานที่พักผ่อน มีอิสระ สีดำจะใช้ในฉากที่ไม่ดีหรือโหดร้าย ส่วนสีขาว ฟ้า และเขียว … Read more

ความเป็นกังฟูในอุตสาหกรรมภาพยนตร์อเมริกา

โดย  นางสาวภิญญาพัชญ์ ศรีชัยสันติกุล บทคัดย่อ งานวิจัยเรื่องความเป็นกังฟูในอุตสาหกรรมภาพยนตร์อเมริกา โดยศึกษาจากภาพยนตร์อเมริกาทั้ง 3 เรื่อง คือ  “The Forbidden Kingdom” หนึ่งฟัดหนึ่ง ใหญ่ต่อใหญ่ (2008)   “Bloodsport” ขาเจาะเหล็ก (1988)   และ “Karate Kids” คาราเต้ คิดส์ (2010)   มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเป็นกังฟูในอุตสาหกรรมภาพยนตร์อเมริกา และศึกษาวิธีการสร้างภาพตัวแทนในอุตสาหกรรมภาพยนตร์อเมริกา โดยมีวิธีดำเนินการวิจัย คือ ศึกษาจากแหล่งข้อมูลเอกสาร ข่าว บทความ งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และนำแนวคิดทางสังคมศาสตร์มาใช้ในการวิเคราะห์ ผลการศึกษาพบว่าแบ่งความเป็นกังฟูออกเป็น 3 รูปแบบ คือ ความเป็นกังฟูแบบดั้งเดิมที่มีผู้ชายแก่ๆ เล่นอยู่ในป่า   ความเป็นกังฟูแบบเปลี่ยนผ่านที่เป็นการถ่ายทอดให้กับผู้ชายวัยรุ่นและเริ่มมีการแข่งขันกัน   และสุดท้ายคือ ความเป็นกังฟูแบบใหม่ที่เป็นการเผยแพร่สู่นานาชาติและมีการเปิดโรงเรียนสอน ความเป็นกังฟูภายใต้บริบททางสังคมต่างๆ  มีวิธีการประกอบสร้างออกมาเป็นรูปแบบต่างๆ  และมีความสัมพันธ์กับวิธีการสร้างภาพตัวแทนผ่านตัวละคร  ลักษณะนิสัย  หน้าที่การงาน  เสื้อผ้า  และสถานที่   ซึ่งเป็นการเลือกภาพโดยรวมออกมานำเสนอ  … Read more

ข้อพิพาททะเลจีนใต้กับความมั่นคงในเอเชียตะวันออก

โดย  นางสาวมนัสวี พงษ์สระพัง บทคัดย่อ ทะเลจีนใต้มีอาณาเขตติดต่อทั้งหมด 7 ประเทศ คือ บรูไน จีน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน และเวียดนาม โดยเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทั้งทางด้านยุทธศาสตร์ การคมนาคมและเศรษฐกิจในภูมิภาค และยังส่งผลรวมถึงมหาอำนาจภายนอกอย่างสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ดังนั้น งานวิจัยนี้จึงศึกษา บทบาทของจีนในด้านความมั่นคงในเอเชียตะวันออก โดยใช้ข้อพิพาทในทะเลจีนใต้เป็นกรณีศึกษา รวมไปถึง บทบาทของอาเซียนในกรอบการประชุมอาเซียน ที่จะเป็นเวทีกลางในการแก้ไข้หรือไกล่เกลี่ยปัญหาดังกล่าวได้มากน้อยเพียงใด จากการศึกษาพบว่าจีนได้ใช้หลักฐานทางประวัติศาสตร์ ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น และสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มากล่าวอ้างกรรมสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้และจีนพยายามเข้ามามีบทบาทในเวทีระหว่างประเทศ และพยายามจะที่ก้าวขึ้นไปเป็นมหาอำนาจแทนที่มหาอำนาจเดิมในภูมิภาคดังเช่น สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ส่วนบทบาทและท่าทีของอาเซียนในการเป็นเวทีกลางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้นั้น ที่ผ่านมาอาเซียนยังไม่มีความเป็นเอกภาพมากพอที่จะแก้ไขหรือคลี่คลายปัญหา แต่อาเซียนก็มีท่าทีและจุดยืนอย่างแข็งขันว่า ต้องการให้การแก้ไข้ข้อพิพาทในทะเลจีนใต้เป็นไปอย่างสันติโดยการเจรจาร่วมกันของรัฐพิพาทที่เป็นสมาชิกอาเซียนกับจีนจากนี้อาเซียนควรผลักดันการเจรจาการแก้ไขปัญหาอย่างสันติวิธีรวมไปถึงผลักดันให้เกิดความร่วมมือทางเศรษฐกิจในทะเลจีนใต้มากขึ้น โดยอาจเชิญภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทและช่วยผลักดันให้เกิดการเจรจาและความร่วมมือให้คลี่คลายข้อพิพาทดังกล่าวไปในทางที่สันติโดยเร็ว ดาวน์โหลด บทความวิจัย

ยุทธศาสตร์ใหม่ด้านความมั่นคงของจีนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

โดย  นางสาวภางค์ฤดี นวลพงศ์ บทคัดย่อ ยุทธศาสตร์ใหม่ด้านความมั่นคงของจีนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีจุดมุ่งหมาย เพื่อศึกษาสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างประเทศของจีนและยุทธศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในปัจจุบัน รวมทั้งศึกษาการเปลี่ยนแปลงด้านความมั่นคงระดับภูมิภาคในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ผลการศึกษาพบว่า การเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างประเทศของจีนโดยการประกาศใช้ New Security concept เป็นผลจากการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วของจีนที่สามารถพัฒนาจนมีเงินทุนสำรองมากที่สุดในโลกแซงหน้าสหรัฐฯ และ ญี่ปุ่นได้ภายในปี ค.ศ. 2007 และการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีด้านอาวุธจำนวนมหาศาล ทำให้บรรดาประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกมองว่าการทะยานขึ้นมาของจีนนั้นเป็น “ภัยคุกคาม” ต่อประชาคมโลก จีนจึงจำเป็นต้องเร่งเปลี่ยนภาพลักษณ์ของตัวเองด้วยการสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ทั้ง ASEAN + 1 และ ASEAN + 3 และใช้ยุทธศาสตร์ One Belt One Road  เป็นตัวแทนสร้างหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับนานาประเทศทั่วภูมิภาคเอเชียต่อไป ซึ่งการกระทำต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนเป็นความต้องการแสดงออกของจีนว่า การทะยานขึ้นมาของตนนั้นเป็นอย่างสันติ (Peaceful Rise) ไม่ได้เป็นภัยต่อประชาคมโลกแต่อย่างใด จากความแข็งกร้าวทางกำลังทหารในข้อพิพาททะเลจีนใต้ของจีนนั้น ทำให้เหล่าบรรดาประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกต้องปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงของตน จากเดิมที่ให้ความสนใจในกำลังทหารทางบกเพื่อป้องกันภัยคุกคามจากประเทศเพื่อนบ้าน ได้เปลี่ยนยุทธศาสตร์การป้องกันประเทศด้วยการเสริมสร้างอำนาจทหารทางทะเลของตนให้เข้มแข็งมากขึ้นเพื่อให้พร้อมรับมือกับภัยคุกคามในทะเลจีนใต้ของจีน ดาวน์โหลด บทความวิจัย

พื้นที่กับอำนาจพระราชวังต้องห้าม

โดย  นางสาวพิชญ์ปอร โชคดีพาณิชย์ บทคัดย่อ สารนิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะพื้นที่ของพระราชวังต้องห้าม และอำนาจกับพื้นที่ของ พระราชวังต้องห้ามโดยศึกษาข้อมูลผ่านเอกสาร และการลงพื้นที่เก็บข้อมูล และนำแนวคิดทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ เรื่องพื้นที่และอำนาจ มาใช้ในการวิเคราะห์ ผลการศึกษาพบว่าการเปลี่ยนแปลงลักษณะและอานาจของพระราชวังต้องห้าม สามารถแบ่งลักษณะการเปลี่ยนแปลง ได้ 5 ยุคดังนี้ ยุคก่อสร้างพระราชวังต้องห้าม (สมัยจักรพรรดิหย่งเล่อ – ยุคสิ้นสุดราชวงศ์หมิง) ในยุคแรกจักรพรรดิเป็นผู้ที่มีอำนาจสูงสุด ผู้คนที่อาศัยอยู่ภายในพระราชวังต้องห้ามจะถูกควบคุมพื้นที่ โดยห้ามออกจากพระราชวังถ้าไม่ได้รับอนุญาต ควบคุมร่างกาย มีการปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด ยุคซ่อมแซมพระราชวังต้องห้าม (สมัยราชวงศ์ชิง –ก่อนจักรพรรดิปูยีขึ้นครองราชย์) อำนาจภายในพระราชวังต้องห้ามกษัตริย์ยังคงเป็นผู้ที่มีอำนาจสูงสุดดังเดิม เกิดการปฏิวัติ กบฏ บ้านเมืองเกิดสงครามขึ้น มีการโจมตีพระราชวังต้องห้าม เพื่อลดทอนอำนาจของจักรพรรดิผ่านทางพื้นที่ ยุคกษัตริย์องค์สุดท้ายที่อยู่ภายในพระราชวังต้องห้าม (จักรพรรดิปูยีขึ้นครองราชย์ –สละราชย์บัลลังก์) หลังจากเกิดการปฏิวัติ จักรพรรดิปูยีถูกควบคุมพื้นที่อยู่ที่บริเวณพระราชวังชั้นใน ถูกลดทอนอำนาจภายในพระราชวังและการบริหารประเทศ รัฐบาลใหม่เข้ามาควบคุมดูแลพระราชวังต้องห้าม จากพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์เปลี่ยนเป็นพื้นที่ท่องเที่ยว ยุคพิพิธภัณฑ์พระราชวังต้องห้ามกับรัฐบาลจีนที่เข้ามามีบทบาท (สมัยรัฐบาลเข้ามามีบทบาท – ปัจจุบัน) รัฐบาลเข้ามามีบทบาทในการดูแลพระราชวังต้องห้ามอย่างเต็มรูปแบบ อำนาจทั้งหมดเป็นของรัฐบาล รัฐบาลมีการเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่ โดยพระราชวังต้องห้ามกลายเป็นพื้นที่ท่องเที่ยว และพื้นที่ทางเศรษฐกิจแทน ความเป็นจีนผ่านพระราชวังต้องห้าม ความเชื่อในเรื่องของสี ความเป็นชาย และชาตินิยมที่ปรากฏผ่านพระราชวังต้องห้ามตั้งแต่สมัยก่อสร้างจนถึงปัจจุบัน … Read more

การสร้างภาพการทำแท้งในภาพยนตร์จีน

โดย  นางสาวพัณณ์นิญา กาญจนเทียนศรี บทคัดย่อ การศึกษาวิจัยเรื่องการสร้างภาพการทำแท้งในภาพยนตร์จีน มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาทัศนคติของภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้องกับการทำแท้ง และศึกษาการสร้างภาพตัวแทน โดยศึกษาจากภาพยนตร์ทั้งหมด 6 เรื่อง ผลการศึกษาพบภาพยนตร์ทั้งหมด 6 เรื่อง มีทัศนคติ 2 แบบ แบบแรกคือทัศนคติของภาพยนตร์ที่มองว่าการทำแท้งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกและไม่ควร จะมีการทำให้เห็นถึงผลกระทบจากการทำแท้ง ว่าเกิดผลเสียต่อครอบครัวและตัวผู้ที่ทำแท้งเองอีกด้วย ส่วนแบบที่สองคือ ทัศนคติของภาพยนตร์ที่มองว่าการทำแท้งเป็นเรื่องปกติ โดยภาพยนตร์เหล่านี้จะไม่ได้เสนอผลกระทบจากการทำแท้ง การศึกษาการสร้างภาพตัวแทนการทำแท้ง ทัศนคติทั้งสองแบบนี้ได้ส่งผลต่อการสร้างภาพตัวแทนของภาพยนตร์ในแต่ละทัศนคติ โดยสร้างภาพตัวแทนผ่านตัวละครและสถานที่ ทั้งก่อนและหลังทำแท้ง โดยการสร้างภาพตัวแทนของภาพยนตร์ที่มีทัศนคติที่มองว่าการทำแท้งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกไม่ควร มักจะสร้างภาพตัวแทนที่ดูน่ากลัว แสดงให้เห็นถึงความเศร้าโศก ความเจ็บปวดอย่างหนัก อีกทั้งยังมีผลกระทบที่รุนแรงตามมา ส่วนการสร้างภาพตัวแทนของภาพยนตร์ที่มีทัศนคติต่อการทำแท้งในมุมมองปกติ จะสร้างภาพตัวแทนที่ไม่น่ากลัว ผู้ที่ทำแท้งแทบจะไม่มีความกังวลและเสียใจอีกทั้งยังไม่มีภาพของผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังจากทำแท้ง ทัศนคติและการสร้างภาพตัวแทนที่แตกต่างกันของภาพยนตร์ เนื่องจากบริบททางสังคมและความสัมพันธ์ของตัวละครที่ต่างกัน โดยเกี่ยวกับชุดความคิดเรื่องครอบครัวและนโยบายที่เกี่ยวกับการควบคุมจำนวนประชากรของประชาชนจีน ซึ่งทำให้ส่งผลกับทัศนคติเกี่ยวกับการทำแท้งเช่นกัน ดาวน์โหลด บทความวิจัย

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย กรณีศึกษาอุตสาหกรรมพิมพ์ผ้า

โดย  นางสาวปาริฉัตร แซ่ภู่ บทคัดย่อ งานวิจัยการศึกษาอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย กรณีศึกษาอุตสาหกรรมพิมพ์ผ้ามีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเกี่ยวกับการนำเข้าผ้า วัตถุดิบ และสารเคมีต่างๆ ที่นำมาใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมการพิมพ์ผ้า และศึกษากระบวนการผลิตในการพิมพ์ผ้า แรงงาน คุณภาพ รูปแบบสินค้า การปรับตัวในสถานการณ์ปัจจุบัน และแนวโน้มในอนาคต รวมทั้งศึกษาเกี่ยวกับการส่งออกสินค้า และคู่แข่งโดยอาศัยข้อมูลจากหนังสือ เอกสารและเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องทำการสัมภาษณ์วิเคราะห์เนื้อหาและถอดเทปบทสัมภาษณ์นำมาเรียบเรียงข้อมูล ผลการศึกษาพบว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของไทยมีการนำเข้าจากต่างประเทศเป็นอย่างมากโดยเฉพาะอุตสาหกรรมกลางน้ำ ที่ต้องอาศัยเงินลงทุนมาก และอาศัยเทคโนโลยีการผลิตระดับปานกลางถึงระดับสูง ซึ่งยังไม่สามารถผลิตเครื่องจักรเหล่านี้เองได้จึงต้องนำเข้าจากต่างประเทศ นอกจากนั้นแล้ววัตถุดิบต่างๆ เช่น ผ้าด้ายดิบ สารเคมี สารฟอกย้อมพิมพ์ต่างๆ ประเทศไทยก็ต้องนำเข้าจากต่างประเทศเช่นกัน เพื่อนำมาใช้สอยในประเทศ รวมทั้งนำมาพัฒนา ปรับเปลี่ยน สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าแล้วส่งออกต่อไป นอกจากนั้นแล้วไทยยังพยายามพัฒนาทั้งคุณภาพสินค้า คุณภาพแรงงานให้ดีขึ้นเรื่อยๆ เพื่อที่จะสามารถแข่งขันในตลาดโลกที่มีคู่แข่งมากมายได้ ดาวน์โหลด บทความวิจัย

การพัฒนาเศรษฐกิจของมหานครฉงชิ่ง

โดย  นางสาวบุญสิตา แช่มจุ้ย บทคัดย่อ บทความวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการพัฒนาเศรษฐกิจของมหานครฉงชิ่ง นับตั้งแต่ที่รัฐบาลจีนได้มีการประกาศใช้นโยบายการพัฒนาพื้นที่ตะวันตกของจีน เพื่อเป็นการลดช่องว่างการพัฒนากับพื้นที่ทางฝั่งตะวันออกของประเทศ ผลจากการวิจัยพบว่าในการศึกษาการพัฒนาเศรษฐกิจของมหานครฉงชิ่ง เหตุผลที่สำคัญที่ทำให้มหานครฉงชิ่งมีเศรษฐกิจที่เจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากรัฐบาลจีนได้มีการสนับสนุนและกำหนดนโยบายผลักดันให้เกิดการใช้จุดเด่นของมหานครให้เกิดประโยชน์ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก เพื่อให้มหานครฉงชิ่งเป็นต้นแบบการพัฒนาพื้นที่ตะวันตก รวมไปถึงรัฐบาลท้องถิ่นก็ได้มีการร่วมมือกัน เพื่อจะผลักดันให้บริเวณพื้นที่นั้นเป็นเขตเศรษฐกิจที่มีความแข็งแกร่งที่สุดของประเทศ สามารถแข่งกับประเทศต่างๆในภูมิภาคได้ นอกจากนี้ การศึกษาการพัฒนาเศรษฐกิจของมหานครฉงชิ่งพบว่า จากนโยบายต่างๆที่รัฐบาลได้กำหนดขึ้นมา  ส่งผลให้มหานครฉงชิ่งเป็นมหานครที่ประสบผลสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างมาก โดยวัดจากอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 12โดยในปี พ.ศ. 2558 มีอัตราการเจริญเติบโตของ GDP เพิ่มขึ้น11% รวมทั้งอัตราการจ้างงานก็ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลให้รายได้ประชากรของมหานครฉงชิ่งเพิ่มขึ้นอีกด้วย ดาวน์โหลด บทความวิจัย