การแต่งกายกิโมโนของสตรีญี่ปุ่นในสมัยไทโช

นางสาวชฎาภา พุ่มเชื้อ

บทคัดย่อ

สารนิพนธ์ “การแต่งกายกิโมโนของสตรีญี่ปุ่นในยุคไทโช” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากิโมโนในสมัยไทโช ทั้งด้านรูปแบบและอิทธิพลที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง โดยศึกษาข้อมูลจากเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับกิโมโนและการเข้ามาของอิทธิพลตะวันตก รวมไปถึงหลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเครื่องแต่งกายของสตรีญี่ปุ่นในสมัยไทโช ทั้งเอกสารภาษาไทย ภาษาอังกฤษและสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อนำมาวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของเครื่องแต่งกายกิโมโนในสมัยไทโชหลังการเข้ามาของอิทธิพลตะวันตก

ผลการศึกษาพบว่าชาวญี่ปุ่นเริ่มสวมใส่เครื่องแต่งกายคล้ายชุดกิโมโนเป็นครั้งแรกในสมัยเฮอัน โดยรับเอารูปแบบการแต่งกายมาจากประเทศจีนในสมัยราชวงศ์ถัง ต่อมาในสมัยเอโดะได้เกิดรูปแบบการย้อมผ้าขึ้นใหม่ คือ เทคนิค ‘ยูเซน’ ซึ่งเป็นหนึ่งในเทคนิคที่สำคัญในการผลิตกิโมโนในยุคถัดมา เมื่อเข้าสู่ยุคสมัยเมจิมีการเปิดประเทศรัฐบาลจึงกำหนดให้แต่งกายตามแบบชาวตะวันตก มีการส่งคนไปศึกษาเทคโนโลยีการทอผ้า ศึกษาสีเคมีและนำเข้าสีสังเคราะห์มาจากประเทศอังกฤษ ด้วยเหตุนี้ชุดกิโมโนจึงกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งแต่แฝงไว้ด้วยกลิ่นอายแบบตะวันตก เมื่อเข้าสู่สมัยไทโชไปจนถึงยุคโชวะได้มีการติดต่อกับต่างประเทศมากขึ้นอีกทั้งเศรษฐกิจภายในประเทศมีการเติบโตอย่างรวดเร็วภายหลังการชนะสงคราม ก่อให้เกิดอิทธิพลที่มีผลต่อการแต่งกายของชาวญี่ปุ่น จากการศึกษาเครื่องแต่งกายกิโมโนของสตรีญี่ปุ่นในสมัยไทโชทำให้ทราบถึงอิทธิพลที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของเครื่องแต่งกายกิโมโน ดังนี้ 1. การเข้ามาของอิทธิพลทางด้านศิลปะตะวันตก รูปแบบศิลปะที่มีผลต่อการออกแบบลวดลายบนกิโมโนในสมัยไทโช คือ ศิลปะอาร์ตนูโว และอาร์ตเดโค 2. การผลิตผ้าไหมเมเซนที่มีราคาไม่แพงแต่มีความทนทาน สามารถผลิตได้รวดเร็วโดยใช้สีย้อมเคมีที่มีสีสันสดใสและสามารถออกแบบลวดลายได้อย่างไม่จำกัด จากการผลิตผ้าไหมชนิดนี้ทำให้ชาวญี่ปุ่นกลับมานิยมแต่งกิโมโนอีกครั้ง