การพัฒนาท้องถิ่นผ่านโครงการ OVOP ของญี่ปุ่นและ OTOP ของไทยช่วง ค.ศ. 1979-2021

นางสาวเพชรลดา ใสสะอาด

บทคัดย่อ

บทความวิจัยเรื่อง “การพัฒนาท้องถิ่นผ่านโครงการ OVOP ของญี่ปุ่นและ OTOP ของไทย ช่วง ค.ศ. 1979-2021” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประวัติความเป็นมา แนวนโยบาย และการพัฒนาของแนวทางหนึ่งหมู่บ้านหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OVOP) ของญี่ปุ่น และโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ของไทย และการศึกษาเปรียบแนวทางการปฏิบัติของนโยบายจากภาครัฐ

ผลการศึกษาพบว่า กระบวนการการพัฒนาของแนวทาง One Village One Product: OVOP มีลักษณะแบบล่างขึ้นบน (Bottom-Up) มีจุดเริ่มต้นจากคนในท้องถิ่นที่หันมาพึ่งพาตนเอง เพื่อแก้ไขปัญหาท้องถิ่นเกิดความซบเซา จากการที่คนวัยทำงานมุ่งหน้าเข้าสู่การทำงานในภาคเมืองที่ได้รับการพัฒนาจากรัฐบาลจนทำให้มีความเจริญเป็นอย่างมากทั้งในด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม โออิตะเป็นท้องถิ่นแรกที่ใช้แนวทาง OVOP ใน ค.ศ. 1979 โดยมีรัฐบาลท้องถิ่นเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุน โดยองค์ประกอบที่ถูกให้ความสำคัญมากที่สุด คือ ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อเป็นรากฐานของการพึ่งพาตนเอง ส่วนกระบวนการการพัฒนาของโครงการ One Tambon One Product: OTOP มีลักษณะแบบบนลงล่าง (Top-Down) มีจุดเริ่มต้นจากวิกฤตเศรษฐกิจในเอเชียที่ทำให้รัฐบาลในขณะนั้นตระหนักรู้ได้ถึงต้นทุนทางทรัพยากรธรรมชาติและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่หยั่งรากลึกในสังคมไทย จึงประกาศนโยบายเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากใน ค.ศ. 2001 โดยองค์ประกอบที่ถูกให้ความสำคัญมากที่สุด คือ ด้านการตลาด โดยมุ่งพัฒนาเพียงสินค้าเป็นสำคัญและจัดหาช่องทางจัดจำหน่ายสินค้าในรูปแบบต่าง ๆ ในแต่ละระดับ เพื่อให้สินค้าเป็นที่รู้จักแก่คนทั่วไป