บทบาทของซามิเซ็งในสื่อแอนิเมชันญี่ปุ่น เรื่อง มาชิโระโนะโอโตะ (Mashiro no Oto)

นางสาวขัตติยาภรณ์ เหลืองอ่อน

บทคัดย่อ

สารนิพนธ์เรื่อง บทบาทของซามิเซ็งในสื่อแอนิเมชันญี่ปุ่น เรื่อง มาชิโระโนะโอโตะ (Mashiro no Oto) มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาองค์ประกอบเนื้อเรื่องของแอนิเมชัน 2) ศึกษาองค์ความรู้และบทบาทของซามิเซ็งในแอนิเมชัน ผลการศึกษาพบว่า 1) แนวความคิดหลักของแอนิเมชันคือ ตัวละครต้องการพิสูจน์ตนเองผ่านเสียงซามิเซ็ง และต้องการการยอมรับจากคนรอบข้าง โดยถ่ายทอดเรื่องราวในมุมมองของบุคคลที่สาม 2) ซามิเซ็งมีต้นกำเนิดมาจากเครื่องดนตรีสามสายของจีนชื่อว่า ซานเสียน ประเภทซามิเซ็งที่ปรากฏในเรื่องนี้คือ สึงารุซามิเซ็ง (Tsugaru Shamisen) มีบทบาทต่อแอนิเมชันสองด้าน ได้แก่ ด้านเนื้อเรื่อง ซามิเซ็งมีฐานะเป็นทั้งจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ เป็นสื่อกลางเชื่อมโยงเหตุการณ์ต่าง ๆ และช่วยคลายปมปัญหาของตัวละคร ด้านการสื่ออารมณ์ ซามิเซ็งช่วยสื่อถึงเรื่องราวชีวิตของตัวละครผ่านบทเพลง 9 บทเพลง ได้แก่ ชุนเกียว (Shungyou) สึงารุโยซาเรบูชิ (Tsugaru Yosare Bushi) สึงารุจนงาราบูชิ (Tsugaru Jyongara Bushi) สึงารุโอฮาราบูชิ (Tsugaru Ohara Bushi) บลิซซาร์ด (BLIZZARD) กินเซไก (Ginsekai) โคโนะยูเมะกะซาเมรุมาเดะ (Kono Yume ga Sameru made) อาเระ (Are) และ เพลงของตัวละคร (Kamiki Seiryuu) อีกทั้งยังช่วยสื่ออารมณ์และลักษณะนิสัยของตัวละครผ่านวิธีบรรเลงอันเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละคน