อิทธิพลของกลองพื้นบ้านเกาหลีต่อการแสดงร่วมสมัย “นันทา”

โดย นางสาวจิราพร สุดพลับ

บทคัดย่อ

บทความวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาชนิดและลักษณะของเครื่องดนตรีพื้นบ้านเกาหลีที่ปรากฏในการแสดงร่วมสมัยนันทา และเพื่อศึกษาวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างความร่วมสมัยของการแสดงนันทากับเครื่องดนตรีพื้นบ้านเกาหลี โดยมีวิธีการศึกษาด้วยการรวบรวมข้อมูลจากเอกสารและสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ อาทิเช่น หนังสือทั้งภาษาไทยและภาษต่างประเทศ บทความจากวารสาร และข้อมูลจากสื่อออนไลน์ต่างๆ

จากผลการศึกษาพบว่า ประเทศเกาหลีในปัจจุบันได้รับกระแสตอบรับอย่างดีมากในด้านวงการแสดงในหลายๆ การแสดง การแสดงนันทาเป็นหนึ่งในการแสดงที่ได้รับความนิยมมาก นันทาเป็นการแสดงที่นาความดั้งเดิมของดนตรีพื้นบ้านเกาหลี มาประยุกต์เข้ากับรูปแบบการแสดงสมัยใหม่โดยใช้เครื่องครัวมาเคาะให้เกิดจังหวะเลียนเสียงเครื่องดนตรีพื้นบ้านของเกาหลี ซึ่งกลองสองชนิดที่ปรากฏอยู่ในการแสดงนันทาคือ จังกู (กลองนาฬิกาทราย) และบุก (กลองใหญ่) กลองทั้งสองชนิดมีความสำคัญต่อประเทศเกาหลีในฐานะของตัวแทนเครื่องดนตรี ที่สามารถบอกเอกลักษณ์ของความเป็นดนตรีเกาหลีพื้นบ้านได้อย่างชัดเจน ปัจจุบันกลองทั้งสองชนิดยังคงมีอิทธิพลต่อการแสดงของกาหลีในหลายๆ ชุดการแสดง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประเทศเกาหลีสร้างผลงานการแสดงขึ้นมาเพื่อทำให้ประเทศของตนได้รับความรู้จักจากทั่วโลก โดยการถ่ายทอดวัฒนธรรมดั้งเดิมผ่านการแสดงที่มีรูปแบบสมัยใหม่ จึงเกิดเป็นงานแสดงร่วมสมัยที่สร้างทั้งชื่อเสียงให้กับประเทศ และรวมไปถึงการอนุรักษ์วัฒนธรรมของประเทศให้อยู่ตลอดไปด้วยเช่นกัน

ดาวน์โหลด บทความวิจัย
icon-pdf