บทบาทรถไฟความเร็วสูงกับการท่องเที่ยวจีน

โดย นางสาวชวัลรัตน์ สวัสดิภาพ

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสำคัญ ความเป็นมา และพัฒนาการของรถไฟความเร็วสูงในจีน รวมทั้งศึกษาโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงในจีน และเพื่อศึกษาโครงข่ายของรถไฟความเร็วสูงที่เชื่อมต่อกับแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญในจีน โดยอาศัยข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวข้องเพื่อนำมาวิเคราะห์ตามจุดประสงค์

ผลการศึกษาพบว่า ประเทศจีนเป็นประเทศที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ ลักษณะภูมิประเทศและภูมิอากาศมีความแตกต่างหลากหลาย การขนส่งผู้โดยสารและสินค้าไปต่างเมืองต่างมณฑลในทางราบมีความยากลำบากและใช้เวลานาน ส่วนการขนส่งในทางอากาศมีค่าใช้ที่จ่ายสูงมาก ส่งผลให้ระบบการคมนาคมขนส่งเป็นไปอย่างล่าช้ากระทบต่อการพัฒนาของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขนส่งจากภาคตะวันออกสู่ภาคตะวันตกที่มีความยากลำบากต่อการเข้าถึงเพราะส่วนใหญ่เป็นเขตที่สูง ภูเขาและทะเลทรายทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำด้านการพัฒนาความเจริญอย่างมาก อีกทั้งการให้บริการด้านการขนส่งทั้งสองรูปแบบไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชากรที่มีจำนวนมหาศาลของจีน รัฐบาลจีนจึงหันมาให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงเพื่อการพัฒนาประเทศกระจายความเจริญสู่ภาคตะวันตกและส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวภายในประเทศ การพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงของประเทศจีนเริ่มต้นมาตั้งแต่ปีค.ศ. 1994 จนสารมารถเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูงสายฉินหยาง(秦沈客运专线) ที่มีความเร็วสูงสุด 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้สำเร็จเป็นสายแรกในปีค.ศ. 2003 ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตรถไฟความเร็วสูงของจีน และได้มีการพัฒนาโครงการมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปีค.ศ. 2013 ประเทศจีนสามารถเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูงได้ทั้งหมด 26 สาย ครอบคลุม 17 มณฑล 1 เขตปกครองตนเอง 1 เขตปกครองพิเศษและ 4 เมืองเทศบาล ซึ่งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคกลาง บริเวณลุ่มแม่น้ำฉางเจียงและบริเวณลุ่มแม่น้ำจูเจียงทางตอนใต้ ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศจีน เมื่อการเดินทางเป็นไปอย่างสะดวกมากขึ้นจึงทำให้จำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการรถไฟความเร็วสูงเพื่อการท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้นในอัตราก้าวหน้า เนื่องจากโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงของจีนที่เปิดให้บริการในปัจจุบันมีการสร้างผ่านมณฑลและเมืองสำคัญทำให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวต่างๆได้ง่ายขึ้น ประเทศจีนถือเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์อันเก่าแก่และรุ่งเรือง ภายในประเทศยังคงเต็มไปด้วยสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมอันเก่าแก่ อุดมไปด้วยสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ตามเมืองต่างๆยังคงกลิ่นอายแห่งอารยธรรมโบราณผสมผสานกับวิถีชีวิตชาวเมืองสมัยใหม่ได้อย่างลงตัว

ดาวน์โหลด บทความวิจัย
icon-pdf