การฟื้นฟูสมัยเมจิ จุดเปลี่ยนแห่งยุคสมัยของประเทศญี่ปุ่น

โดย นางสาวพรธิดา  บุตรสระ บทคัดย่อ ยุคสมัยเมจิ เป็นยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงจากการปกครองระบอบโชกุน กลับมาสู่การปกครองระบอบจักรพรรดิอีกครั้ง จากการเปิดประเทศให้มีชาวต่างประเทศเข้ามาในสมัยรัฐบาลโชกุนโทคุงาวะ วิทยาการเทคโนโลยี ความก้าวหน้าของสังคม กฎหมาย วัฒนธรรม การศึกษา การทหาร ฯลฯ เข้ามามีผลกับความเจริญก้าวหน้าของญี่ปุ่นโดยตรง ทำให้เกิดความพัฒนาที่ก้าวกระโดด เปลี่ยนระบบสังคมยุคกลางของญี่ปุ่น เป็นระบบสังคมยุคใหม่ที่มีองค์จักรพรรดิเป็นองค์อุปถัมภ์สนับสนุนการศึกษาวิทยาการ เทคโนโลยีของต่างชาติมากขึ้น เพื่อพัฒนาให้ญี่ปุ่นเป็นชาติที่มีความก้าวหน้าทัดเทียมกับชาวต่างประเทศ ยุคสมัยเมจิเป็นยุคสมัยเริ่มต้นของความเจริญรุ่งเรืองในทุกด้านของประเทศญี่ปุ่น เป็นประเทศที่ผสานวัฒนธรรมเก่าแก่กับวัฒนธรรมใหม่จากต่างชาติได้อย่างกลมกลืนที่สุด และเป็นประเทศที่ภายหลังได้กลายเป็นมหาอำนาจแถบเอเชียบูรพา พร้อมทั้งมีความเจริญทางเทคโนโลยีอุตสาหกรรมการทหารมากที่สุด บทความวิจัยเรื่อง “การฟื้นฟูสมัยเมจิ จุดเปลี่ยนแห่งยุคสมัยของประเทศญี่ปุ่น” มีจุดประสงค์เพื่อศึกษา สมเด็จพระจักรพรรดิมุทสึฮิโตะหรือจักรพรรดิเมจิ จักรพรรดิผู้ริเริ่มแนวคิดการพัฒนาประเทศให้ทัดเทียมกับนานาอารยชนต่างประเทศ ศึกษาการพัฒนาในด้านเทคโนโลยีและการศึกษาของประเทศญี่ปุ่น ดาวน์โหลด บทความวิจัย

ขบวนการร่ม : การปะทุของขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง

โดย นางสาวปาจรีย์  บุญชิต บทคัดย่อ วันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1997 เป็นวันที่ฮ่องกงกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐประชาชนจีนอีกครั้ง หลังจากตกอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษเป็นระยะเวลานานกว่า 155 ปี (ค.ศ. 1842 – 1997) ซึ่งเป็นผลมาจากการพ่ายแพ้อังกฤษในสงครามฝิ่นครั้งที่ 1 ทำให้จีนต้องลงนามในสนธิสัญญานานกิง โดยหนึ่งในข้อสัญญาคือ จีนต้องยกเกาะฮ่องกงให้อังกฤษ อังกฤษพัฒนาฮ่องกงจากเกาะที่มีแต่โขดหินจน กลายเป็นเมืองท่าที่สำคัญ และปกครองฮ่องกงด้วยระบอบประชาธิปไตย เมื่อฮ่องกงต้องกลับมาอยู่ภายใต้การปกครองของสาธารณรัฐประชาชนจีน ใน ค.ศ. 1997 จีนได้วางนโยบายการปกครองแบบหนึ่งประเทศสองระบบ เพื่อรักษาสถานภาพเดิมของฮ่องกงเอาไว้  อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 10 มิถุนายน ค.ศ. 2014 จีนได้เผยแพร่สมุดปกขาว ที่มีใจความว่า รัฐบาลจีนที่ปักกิ่งมีอำนาจเด็ดขาดในการปกครองเกาะฮ่องกงโดยสมบูรณ์ สร้างความตื่นตระหนกให้กับชาวฮ่องกง จนนำไปสู่การจัดการชุมนุมประท้วงขึ้น เรียกว่า “ขบวนการร่ม” เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย บทความนี้มุ่งศึกษาสาเหตุของการเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง ใน ค.ศ. 2014 ลักษณะและเหตุการณ์การชุมนุม ตลอดจนผลกระทบของการชุมนุมของขบวนการดังกล่าว ผลการศึกษาพบว่า การปะทุของขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง เกิดขึ้นจากการที่จีนละเมิดข้อตกลงในนโยบายการปกครองแบบหนึ่งประเทศสองระบบ และพยายามปลูกฝังความเป็นชาตินิยมและระบอบสังคมนิยมแบบจีนให้แก่ชาวฮ่องกงรุ่นใหม่ … Read more

ถงจวื่อ กวงสวี่ ปูยี กับฐานะจักรพรรดิหุ่นเชิด ช่วงปลายราชวงศ์ชิง

โดย นางสาวนภัสรพี  เจียมตั้งปัญญากร บทคัดย่อ ช่วงปลายราชวงศ์ชิงหลังจากแพ้สงครามฝิ่นเป็นต้นมา ราชวงศ์ชิงเริ่มเข้าสู่ยุคเสื่อมโทรม เนื่องจากปัญหาจากการเข้ามารุกรานของต่างชาติที่เป็นผลต่อเนื่องจากการแพ้สงคราม อีกทั้งปัญหาภายในราชสำนักเองก็เป็นส่วนที่ทำให้ราชวงศ์ชิงอ่อนแอจนไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เรื้อรังได้ สร้างความไม่พอใจแก่ราษฎรทั่วทุกหนทุกแห่ง ก่อให้เกิดการต่อต้านที่รุนแรง จนกลายเป็นกบฎโค่นล้มราชวงศ์ นอกจากนี้สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดที่แสดงให้เห็นถึงความเสื่อมโทรมของระบบการเมืองการปกครองของราชวงศ์ชิง ก็คือ จักรพรรดิ 3 องค์สุดท้าย มีฐานะเป็นเพียงแค่หุ่นเชิดเท่านั้น ไม่มีอำนาจการปกครองที่แท้จริง เนื่องจากอำนาจการปกครองประเทศทั้งหมดอยู่ที่พระนางซูสีไทเฮาและกลุ่มขุนนาง ประกอบกับปัจจัยหลายๆ อย่างที่รุมเร้าเข้ามาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้  ราชวงศ์ชิง ถึงจุดล่มสลายในปี 1912 บทความนี้มุ่งศึกษาบทบาททางการเมืองของจักรพรรดิ 3 องค์สุดท้ายของราชวงศ์ชิง ได้แก่ จักรพรรดิถงจวื่อ กวงสวี่ และปูยี เพื่อวิเคราะห์บริบททางการเมืองและเหตุการณ์ต่างๆ ที่ทำให้จักรพรรดิไร้ซึ่งอำนาจในการบริหารบ้านเมือง ตลอดจนสาเหตุที่มีอิทธิพลต่ออำนาจการปกครองของจักรพรรดิในช่วงปลายราชวงศ์ชิง ดาวน์โหลด บทความวิจัย

บทบาทของนิกายเซนในสมัยคามาคุระ (ค.ศ. 1192 – 1333) ถึงสมัยมุโรมาชิ (ค.ศ. 1336 -1568)

โดย นางสาวภัณฑิรา  ปวรางกูร บทคัดย่อ นิกายเซนนั้นมีที่มาและบทบาทต่อญี่ปุ่นในหลายๆด้าน เช่น ด้านสังคม ด้านการเมือง และด้านศิลปะ นิกายเซนเป็นนิกายที่มีความสำคัญกับประเทศญี่ปุ่นอย่างมากจากผลการศึกษาจะเห็นว่านิกายเซนได้เข้าไปผสมผสานในทุกๆ กิจกรรมของญี่ปุ่นในสมัยคามาคะระและมุโรมาชิได้อย่างกลมกลืน จนกลายเป็นวิถีชีวิตและจิตใจของคนญี่ปุ่นจนมาถึงปัจจุบัน การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเป็นมาและบทบาทของนิกายเซนในญี่ปุ่นสมัยคามาคุระ (ค.ศ. 1192 – 1333) ถึงสมัยมุโรมาชิ (ค.ศ. 1336 -1568) ว่ามีความสำคัญอย่างไรในสมัยนั้น โดยศึกษาในสมัยคามาคุระ (ค.ศ. 1192 – 1333) ถึงสมัยมุโรมาชิ (ค.ศ. 1336 -1568) เนื่องจากเป็นช่วงที่นิกายเซนมีบทบาทมากที่สุดในยุคสมัยนี้ ดำเนินงานวิจัยโดยศึกษาในเชิงวิเคราะห์ด้วยระเบียบวิจัยทางประวัติศาสตร์ จากเอกสารทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษที่เกี่ยวข้องกับนิกายเซน ดาวน์โหลด บทความวิจัย

ฉินอ๋องเจิ้งกับการรวมแผ่นดินจีน

โดย นางสาวศศิธร  ภิรมย์เริก บทคัดย่อ บทความวิจัยเรื่อง ฉินอ๋องเจิ้งกับการรวมแผ่นดินจีน มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยสนับสนุนแคว้นฉินและวิธีการดำเนินนโยบาย การวางกลยุทธ์ของแคว้นฉินจนนำไปสู่การรวบรวมแผ่นดินจีนได้สำเร็จ ผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยหลักที่สนับสนุนให้แคว้นฉินพัฒนากลายเป็นแคว้นที่มีเศรษฐกิจมั่งคั่งและอำนาจทางการทหารที่แข็งแกร่งเหนือแคว้นพันธมิตรทั้งหลายคือ การปฏิรูปซางยาง ที่ให้ความสำคัญกับเกษตรกรรมและพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนควบคู่กันไป ทางด้านการดำเนินนโยบายรวบรวมแผ่นดิน นอกจากฉินอ๋องเจิ้งจะทรงมีพระปรีชาทางด้านการทหารแล้ว ยังทรงมีพระปรีชาสามารถในการเลือกใช้บุคลากรที่มีสติปัญญาและความรู้รอบด้าน เช่น หลี่ซือและเว่ยเหลียวโดยคัดเลือกให้เข้ามาดำรงตำแหน่งสำคัญ เพื่อช่วยวางกลยุทธ์และเป็นที่ปรึกษาข้างพระวรกาย ซึ่งการดำเนินนโยบายผนวกแผ่นดินได้ใช้กลยุทธ์ไส้ศึกของเว่ยเหลียว คือ การส่งไส้ศึกเข้าไปติดสินบนขุนนางระดับสูงของแคว้นทั้งหก จากนั้นยุแยงให้แตกหักกันเองและจึงนำกองทัพบุกโจมตีซ้ำ วิธีการเช่นนี้ทำให้ทั้งหกแคว้นเกิดความแคลงใจและขาดความสามัคคีระหว่างกัน เป็นจุดอ่อนที่เปิดทางให้ฉินอ๋องเจิ้งเข้าไปผนวกทั้งหกแคว้นให้รวมเป็นปึกแผ่นสำเร็จภายในระยะเวลาเพียง 10 ปี โดยไม่ต้องเสียกองกำลังทหารจำนวนมากเหมือนดั่งในอดีตที่ผ่านมา พร้อมทั้งสถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดิองค์แรกของราชวงศ์ฉิน พระนามว่า จิ๋นซีฮ่องเต้ ดาวน์โหลด บทความวิจัย

บทบาทของกลุ่มชินเซ็นกุมิด้านการเมืองในสมัยโทกุงาวะตอนปลาย (ค.ศ. 1863 – 1868)

โดย นางสาวสุภัทร์จีรา  เกตุนิธิวงษ์ บทคัดย่อ กลุ่มชินเซ็นกุมิมีบทบาทในการช่วยเหลือรัฐบาลโชกุนในแง่ของการเมืองการปกครองเป็นอย่างมาก เนื่องจากในสมัยตอนปลายของโทกุงาวะ ประชาชนส่วนใหญ่ขาดความเชื่อมั่นในรัฐบาลโชกุนเพราะการยอมเปิดประเทศให้ชาติตะวันตกเข้ามา แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลโชกุนไม่สามารถป้องกันประเทศได้ ทำให้มีการก่อกบฏและหันมาเรียกร้องให้คืนอำนาจแก่องค์จักรพรรดิกลับมาปกครอง จนขุนนางแตกออกเป็นสองฝ่าย คือ ฝ่ายสนับสนุนโชกุนและฝ่ายสนับสนุนองค์จักรพรรดิ หน้าที่หลักของกลุ่มซินเซ็นกุมิก็คือ การปราบปรามกลุ่มกบฏต่างๆ ที่ต่อต้านระบบโชกุน โดยมีการปราบปรามที่มีชื่อเสียงอย่าง “ปฏิบัติการที่ร้านอิเคะดะ” ซึ่งกลุ่มชินเซ็นกุมิได้ทำการขัดขวางแผนการของแคว้นโจชูที่อยู่ฝ่ายจักรพรรดิไม่ให้ทำการเผาเมืองเกียวโตและยกทัพเข้ามาได้สำเร็จ และ “ยุทธการโทบะ – ฟุชิมิ” ซึ่งเป็นสงครามที่เกิดจากการรวมกลุ่มซามูไรจากแคว้นซัทซึมะและโจชูทำการรบกับรัฐบาลโชกุนและกองทัพของแคว้นไอสึ รวมไปถึงกลุ่มซินเซ็นกุมิก็ได้เข้าร่วมสงครามครั้งนี้เช่นกันแต่ก็เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ บทความวิจัยเรื่อง “บทบาทของกลุ่มชินเซ็นกุมิด้านการเมืองและการปกครอง ในสมัยโทกุงาวะตอนปลาย (ค.ศ. 1863 – 1868)” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบทบาทของกลุ่มชินเซ็นกุมิซึ่งเป็นกลุ่มซามูไรที่สนับสนุนโชกุนในด้านการเมืองการปกครองช่วงสมัยตอนปลายโทกุงาวะใน ค.ศ. 1863 – 1868 ดาวน์โหลด บทความวิจัย

ทางรถไฟสายมรณะ : จุดยุทธศาสตร์ของกองทัพญี่ปุ่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โดย นางสาวนาถรวี  จรุงจิตอารีย์ บทคัดย่อ สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2482 – พ.ศ. 2488 ส่งผลกระทบต่อประเทศต่างๆทั่วโลก รวมไปถึงประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ถูกดึงเข้าไปร่วมในสงครามโลกครั้งที่ 2 นี้ โดยประเทศญี่ปุ่นที่เป็นตัวการหลักได้เข้ามาใช้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นฐานทัพให้กับกองทัพทหารของประเทศตนเอง และได้สร้างทางรถไฟสายไทย-พม่าขึ้นมาเพื่อเป็นใช้เป็นทางผ่านและใช้ขนส่งสิ่งของที่จำเป็นในการบำรุงกองทัพทหารไปยังประเทศต่างๆที่อยู่ติดกับประเทศไทย บทความนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อ ศึกษาถึงสาเหตุที่ทำให้ประเทศญี่ปุ่นต้องการที่จะสร้างทางรถไฟสายไทย-พม่าขึ้นมาในฐานะจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญของกองทัพญี่ปุ่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดาวน์โหลด บทความวิจัย

The Founding of a Republic: ภาพสะท้อนการสร้างชาติของสาธารณรัฐประชาชนจีน

โดย นางสาวรัตน์เกล้า  บัวพูล บทคัดย่อ บทความวิจัยเรื่อง The Founding of a Republic : ภาพสะท้อนการสร้างชาติของสาธารณรัฐประชาชนจีน มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเป็นมาและวัตถุประสงค์ในการสร้างภาพยนตร์เรื่อง The Founding of Republic และศึกษาประวัติศาสตร์ช่วงการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ที่นำเสนอในภาพยนตร์ ผลการวิจัยพบว่า ภาพยนตร์เรื่อง The Founding of a Republic สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนครบ 60 ปี ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีนในการช่วยเหลือเรื่องงบประมาณในการผลิตและนำภาพยนตร์เรื่องนี้ออกเผยแพร่ไปยังต่างประเทศ ในภาพยนตร์ได้เสนอภาพเหตุการณ์การสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนตั้งแต่ ค.ศ.1945 ถึง ค.ศ.1949 เพื่อต้องการให้ผู้ชมเห็นถึงความยากลำบากในการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อเชิดชูและให้ความสำคัญกับเหมาเจ๋อตงผู้นำคนสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่รวมแผ่นดินจีนเป็นเวลากว่าสิบปี อีกทั้งรัฐบาลคอมมิวนิสต์ยังให้ประชาชนจีนเห็นความชอบธรรมของตนผ่านภาพยนตร์ เพื่อให้ประชาชนเห็นความสำคัญและสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์ตลอดไป อีกทั้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงแตกต่างกันเพียงแค่การนำเสนอภาพของตัวบุคคล ได้แก่ เหมาเจ๋อตงและเจียงไคเชก ซึ่งประชาชนจีนนับถือเหมาเจ๋อตง ในฐานะวีรบุรุษ แต่ประเทศที่สามคือสหรัฐอเมริกา ไม่ได้มองว่าเหมาเจ๋อตงเป็นวีรบุรุษ แต่ให้ความเห็นว่าเหมาเจ๋อตงเป็นผู้ร้ายเข่นฆ่าประชาชน  ส่วนเจียงไคเชก ประชาชนจีนไม่ค่อยชอบเนื่องจากไม่สามารถควบคุมสมาชิกพรรคก๊กมินตั๋งที่ทุจริตคอร์รัปชันเป็นผลให้เศรษฐกิจภายในประเทศตกต่ำลง แต่สหรัฐอเมริกาให้การสบนับสนุนเจียงไคเชกเนื่องจากเจียงไคเชกมีอุดมการณ์เดียวกับสหรัฐอเมริกา คือ เสรีนิยม ดาวน์โหลด บทความวิจัย

Don’t cry Nanking กับแนวคิดวงศ์ไพบูลย์มหาเอเชียบูรพาของญี่ปุ่น

โดย นางสาวบุญฑริกา  ไผ่ศิริ บทคัดย่อ บทความวิจัยเรื่อง Don’t cry Nanking กับแนวคิดวงศ์ไพบูลย์มหาเอเชียบูรพาของญี่ปุ่นมีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบพฤติกรรมของทหารญี่ปุ่นที่กระทำต่อชาวนานกิงผ่านภาพยนตร์เรื่อง Don’t cry Nanking กับข้อมูลทางประวัติศาสตร์และศึกษาปัจจัยที่นำไปสู่การรุกรานจีนของญี่ปุ่น ผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่นเข้าบุกรุกนานกิงมี 4 ประการสำคัญ คือ แนวความคิดดั้งเดิมและความคิดแบบชาตินิยมของญี่ปุ่น ที่เน้นว่าประเทศของตนเป็นลูกหลานของพระอาทิตย์ จักพรรดิและประชากรสูงส่งกว่าประเทศอื่นๆ ทั้งปวง เหมาะสมที่จะเป็นผู้ดูและครอบครองดินแดนต่างๆ แรงผลักดันจากการล่าอาณานิคมของตะวันตกโดยการบังคับให้ญี่ปุ่นเปิดประเทศในปี 1853 จนทำให้ญี่ปุ่นเรียนรู้เทคโนโลยีจากตะวันตกและต้องการทดสอบพละกำลังกับประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นประสบปัญหาขาดแคลนทรัพยากรจึงต้องการทรัพยากรของประเทศต่างๆ แนวความคิดวงศ์ไพบูลย์มหาเอเชียบูรพา โดยญี่ปุ่นต้องการมีฐานะเท่าเทียมตะวันตกและต้องการแสวงหาประเททศพันธมิตร ญี่ปุ่นจึงตัดสินใจรุกรานประเทศเพื่อนบ้าน ดาวน์โหลด บทความวิจัย

ปัจจัยที่ทำให้ราชวงศ์ฉินล่มสลาย

โดย นางสาวณัฐฐนันท์  วิธี บทคัดย่อ บทความวิจัยเรื่องปัจจัยที่ทำให้ราชวงศ์ฉินล่มสลาย มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาประวัติศาสตร์ราชวงศ์ฉิน (221 ปีก่อนคริสตศักราช – 210 ปีก่อนคริสตศักราช) และเพื่อศึกษาปัจจัยที่ทำให้ราชวงศ์ฉินล่มสลาย ผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยที่ทำให้ราชวงศ์ฉินล่มสลาย มี 2 ประการ ประการแรกคือ ปัญหาที่เกิดตั้งแต่สมัยจักรพรรดิจิ๋นซี ได้แก่ ประชาชนทุกข์ร้อนจากเกณฑ์แรงงาน การเก็บภาษีต่างๆอย่างหนัก กฎหมายที่เข้มงวด การควบคุมความคิดและพฤติกรรม ประการที่สองคือ ปัญหาภายหลังจากการสวรรคตของจักรพรรดิจิ๋นซี ได้แก่ การที่จักรพรรดิคนใหม่ไร้ประสิทธิภาพ จนขันทีเข้ามามีอำนาจในการปกครอง ในท้ายที่สุดก็เกิดการกบฏขึ้นหลายครั้ง จนนำไปสู่การล่มสลายของราชวงศ์ฉิน ดาวน์โหลด บทความวิจัย