กลวิธีสร้างความน่ากลัวด้วยภาพและเสียงแบบเฉพาะตัวที่ปรากฏในภาพยนตร์สยองขวัญของ คิโยะชิ คุโระซะวะ

นายภาราดร ศรีสุดา

บทคัดย่อ

สารนิพนธ์เรื่อง ‘กลวิธีสร้างความน่ากลัวด้วยภาพและเสียงแบบเฉพาะตัวที่ปรากฏในภาพยนตร์สยองขวัญของ คิโยะชิ คุโระซะวะ’ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการสร้างความน่ากลัวด้วยกลวิธีทางภาพและเสียงที่ปรากฏในภาพยนตร์สยองขวัญของคิโยะชิ คุโระซะวะ โดยศึกษาร่วมกับกรอบความคิดเรื่องการใช้เทคนิคทางภาพยนตร์เพื่อสื่อความหมาย กรอบความคิดเรื่องทฤษฎีประพันธกร และกรอบความคิดเรื่องภาพยนตร์สยองขวัญ เพื่อนำมาใช้เป็นกรอบความคิดในการวิเคราะห์

จากการศึกษาภาพยนตร์สยองขวัญทั้ง 7 เรื่องของคิโยะชิ คุโระซะวะ พบว่ามีสร้างความน่ากลัวผ่านลักษณะของภาพที่นำเสนอ บวกกับการควบคุมภาพเพื่อสื่อความหมาย เช่น 1.การจัดแสงแบบไม่เน้นแสงหลัก (low key) เพื่อสร้างบรรยากาศอึมครึมในแต่ละฉาก 2.การเคลื่อนกล้องคืบคลานจนสร้างความรู้สึกคุกคาม 3.การใช้ภาพขนาดไกลมากที่ทำให้ภาพดูโล่งร้างจนน่าขนลุก 4.การจัดองค์ประกอบภาพที่ชวนให้เกิดความอึดอัด 5.การใช้โทนสีของภาพที่ซีดหม่นแห้งแล้ง 6.การออกแบบลักษณะของผีที่ดูเยือกเย็นแต่อันตราย 7.การถ่ายช็อตยาวเพื่อสร้างความตึงเครียดลุ้นระทึก 8.การใช้ภาพแปลกประหลาดที่ให้ความรู้สึกผิดธรรมชาติและ 9.การลำดับภาพทื่อตรงและกะทันหันที่ชวนให้ผู้ชมรู้สึกใจหาย

อีกทั้งยังพบสร้างความน่ากลัวผ่านลักษณะของเสียงที่ใช้ บวกกับการควบคุมเสียงเพื่อสื่อความหมาย เช่น 1.การควบคุมระดับเสียงดนตรีเพื่อทวีความสั่นประสาท 2.การเล่นกับความขัดแย้งของเสียงดังและเสียงเงียบเพื่อสร้างความช็อก 3.การตัดเสียงกะทันหันระหว่างเปลี่ยนเหตุการณ์และสถานที่ ที่สร้างความขาดห้วงทางอารมณ์จนก่อให้เกิดความรู้สึกชวนขนลุก และ 4.การใช้เสียงบรรยากาศและเสียงสังเคราะห์สร้างความหลอกหลอนอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ยังปรากฏถึงความเชื่อมโยงของกลวิธีที่ใช้ภายในภาพยนตร์ทั้ง 7 เรื่อง กล่าวคือ หลายกลวิธีที่ถูกใช้ในภาพยนตร์เรื่องก่อนหน้าได้ถูกนำไปพัฒนาต่อยอดในภาพยนตร์เรื่องถัดไปจนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ผลลัพธ์ที่ได้คือภาพยนตร์ที่เน้นหนักในการสร้างบรรยากาศแปลกประหลาด แต่กลับสร้างความสยองขวัญชนิดสั่นประสาทให้กับผู้ชมได้เป็นอย่างดี ด้วยปัจจัยเหล่านี้ที่ทำให้ภาพยนตร์ สยองขวัญของคิโยะชิ คุโระซะวะ แตกต่างโดดเด่นจากภาพยนตร์สยองขวัญที่นิยมสร้างกันทั่วไป