ค่านิยมในการพัฒนาสังคมคนไร้ศาสนา กรณีศึกษาเกาหลีใต้

นายณัทพงศ์ เอกสินธ์

บทคัดย่อ

บทความวิจัยเล่มนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาเกี่ยวกับค่านิยมที่ส่งผลต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยสะท้อนผ่านการปกครองและปฏิรูปประเทศตั้งแต่ยุคสามอาณาจักรจนกลายเป็นสาธารณรัฐเกาหลีใต้ รวมถึงศึกษาค่านิยมการนับถือศาสนาของสังคมเกาหลีในปัจจุบัน

จากการศึกษาพบว่าชาวเกาหลีค่อนข้างให้ความสำคัญกับบทบาทหน้าที่ของตนเอง เพื่อตอบรับความคาดหวังของคนรอบข้างและมีสถานภาพทางสังคมที่ดี จึงต้องมีความพยายามอย่างมุ่งมั่นในการศึกษาและการทำงาน โดยมีคำสอนของลัทธิขงจื๊อเป็นจุดเริ่มต้นในการเปลี่ยนแปลงลักษณะสังคม นอกจากนี้ยังปรากฏการปลูกฝังค่านิยมทั้งในครอบครัวและสังคมซึ่งมีพื้นฐานมาจากคำสอนของขงจื๊อร่วมกับการศึกษาสมัยใหม่ เยาวชนของเกาหลีจึงมีแนวคิดด้านคุณธรรมจริยธรรมบนบรรทัดฐานเดียวกัน ซึ่งช่วยให้การพัฒนาประเทศต่อไปได้อย่างเป็นระเบียบแม้ว่าจะไม่มีศาสนาประจำชาติ จากผลสำรวจระบุว่าชาวเกาหลีเกินกว่าครึ่งเป็นผู้ไม่นับถือศาสนา โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 40 ปี สาเหตุเพราะศาสนาในปัจจุบันไม่ตอบสนองต่อจุดประสงค์ในการใช้ชีวิตของผู้คน เกิดการตั้งคำถามของคนรุ่นใหม่ถึงความจำเป็นในการนับถือศาสนา ชาวเกาหลีใช้เวลาในการศึกษาและทำงานอย่างเกินตัวเพื่อให้ได้มีชีวิตที่ดีขึ้น ขณะที่ศาสนามอบความหวังอันเป็นสุขหลังไปยังภพภูมิหน้า แต่สำหรับชาวเกาหลีความสุขของชีวิตอาจหมายถึงการประสบความสำเร็จในชีวิตปัจจุบันมากกว่ารอช่วงชีวิตหลังความตาย สิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจสำหรับช่วงเวลานี้ก็อาจไม่ได้หมายถึงศาสนาเสมอไป