การสร้างภาพแทน และการยอมรับกลุ่ม LGBTQ+ ในเกาหลีใต้ และไทยผ่านภาพยนตร์

นางสาวอรนิชชา ประมาคะเต

บทคัดย่อ

บทความวิจัย “การสร้างภาพแทน และการยอมรับกลุ่มLGBTQ+ ในเกาหลีใต้ และไทยผ่าน ภาพยนตร์” มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาการนำเสนอภาพแทนกลุ่มความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) และแนวความคิดที่แฝงอยู่ในสื่อภาพยนตร์ในเกาหลีใต้ และไทย และศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการยอมรับกลุ่มความหลากหลายทางเพศในเกาหลีใต้ และไทย โดยศึกษาผ่านภาพยนตร์เรื่อง Sweet Munchies และภาพยนตร์เรื่องแปลรักฉันด้วยใจเธอ

จากการศึกษาพบว่าการนำเสนอของภาพยนตร์เรื่อง Sweet Munchies มีการนำเสนอเกย์ในสองลักษณะ1.เกย์ที่เปิดเผยตัวตน ตัวละครลักษณะนี้ภาพยนตร์จะสร้างภาพของตัวละครให้แต่งตัวโดดเด่นกว่าตัวละครอื่น และ2.เกย์ที่ไม่เปิดเพยตัวตน ตัวละครลักษณะนี้ภาพยนตร์จะสร้างภาพของตัวละครให้ไม่แปลกแยกจากสมาชิกใจสังคม และแนวความคิดที่แฝงอยู่ในภาพยนตร์ได้แก่ แนวคิดปิตาธิปไตย แนวคิดศาสนาคริสต์ และแนวคิดระบบอาวุโส ส่วนภาพยนตร์เรื่อง แปลรักฉันด้วยใจเธอ มีการนำเสนอเกย์ในสามลักษณะ1.เกย์ที่เพิ่งค้นพบตัวเอง 2.เกย์ที่ไม่เปิดเผยตัวตน และ3.เกย์ที่เปิดเพยตัวตน โดยภาพยนตร์เรื่องนี้จะไม่มีการสร้างภาพของเกย์ให้แตกต่างจากสมาชิกคนอื่นแต่จะใช้สัญลักษณ์ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับตัวละครเป็นนัยยะของการเข้าใจเพศวิถีของตัวละคร และแนวคิดที่แฝงอยู่ในภาพยนตร์ได้แก่ แนวคิดผู้ชายในครอบครัวจีน

และด้านปัจจัยที่มีผลต่อการยอมรับกลุ่ม LGBTQ+ ในเกาหลีใต้ คือ การเข้ามาของอิทธิพลแนวคิดขงจื๊อ ความเชื่อศาสนาคริสต์ ที่ส่งผลให้เกาหลีใต้ยังคงเป็นอนุรักษ์นิยมอยู่ในปัจจุบัน และปัจจัยที่มีผลต่อการยอมรับกลุ่ม LGBTQ+ ในไทย คือ แนวความคิดพุทธเถรวาท การเข้ามาของความคิดแบบวิกตอเรีย และอิทธิผลการแพทย์ตะวันตก แต่เมื่อเปรียบเทียบแล้วสังคมไทยจะยอมรับกลุ่ม LGBTQ+ มากกว่าเกาหลีใต้แต่เป็นการยอมรับแบบ “ทนได้แต่ยอมรับไม่ได้” คือคนส่วนใหญ่รับได้กับการมีอยู่ของคนกลุ่มนี้ ให้เสรีภาพในการแสดงออก แต่ยังจัดให้เป็นความไม่ปกติอยู่เห็นได้จากกฎหมายที่ยังไม่คุ้มครองสิทธิของคนกลุ่มนี้ ผิดกับสังคมเกาหลีใต้ที่ยังค่อยยอมรับคนกลุ่ม LGBTQ+ ผู้คนไม่มีเสรีภาพในการแสดงออก ต้องปกปิดเพศวิถีของตนเองไว้เพราะทัศนคติที่ไม่ดีของสังคมต่อความหลากหลายทางเพศ