ปรัชญาการศึกษาในการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่อง ห้องเรียนลอบสังหาร

นายอินทัช ชินะบุญยานนท์

บทคัดย่อ

บทความวิจัยเรื่อง ‘ปรัชญาการศึกษาในการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่อง ห้องเรียนลอบสังหาร’ มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาปรัชญาการศึกษาที่ปรากฏในเรื่อง รวมถึงศึกษาวิเคราะห์ลักษณะการศึกษาในเรื่องกับลักษณะการศึกษาในปรัชญาการศึกษา

ผลการศึกษาพบว่า ผู้เขียนต้องการเปรียบเทียบลักษณะการศึกษา 2 รูปแบบ ได้แก่ การศึกษาแบบอนุรักษ์นิยม และการศึกษาแบบเสรีนิยม โดยถ่ายทอดผ่านตัวละคร 2 ตัว ได้แก่ ผู้อำนวยการอาซาโนะ กะคุโฮะ และโคโระเซนเซย์ ซึ่งการศึกษาแบบอนุรักษ์นิยมนี้จะปรากฏในโรงเรียนคุนุกิกาโอะกะ โดยมีผู้อำนวยการอาซาโนะ กะคุโฮะ เป็นผู้ควบคุม ลักษณะการศึกษาที่เห็นเด่นชัดคือการมุ่งพัฒนานักเรียนในด้านสติปัญญาเป็นหลัก และจะเน้นครูเป็นศูนย์กลางเนื่องจากมองว่าครูเป็นผู้มีความรู้มาก และต้องเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้เหล่านั้นให้กับนักเรียน ส่วนการศึกษาแบบเสรีนิยมจะปรากฏในห้องเรียน 3-E เป็นหลัก โดยมีโคโระเซนเซย์เป็นผู้ควบคุม ลักษณะการศึกษาที่เห็นเด่นชัดคือการมุ่งพัฒนานักเรียนในทุกด้าน ทั้งร่างกาย อารมณ์ และสติปัญญา

นอกจากนี้ผู้เขียนยังสอดแทรกลักษณะทางสังคมและการศึกษาญี่ปุ่นในเรื่องอีกด้วย จะเห็นได้จากระบบของโรงเรียนที่ไม่ยอมรับนักเรียนที่ปฏิบัติตนไม่ตรงกับความคาดหวังของโรงเรียน นักเรียนในโรงเรียนนี้จำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบที่โรงเรียนกำหนดเพื่อไม่ให้เกิดความเดือดร้อนต่อตนเอง รวมทั้งยังเผยให้เห็นลักษณะสังคมญี่ปุ่นที่ให้ความสำคัญกับเรื่องการเรียนมากที่สุดเช่นกัน ซึ่งตรงกับฉากหนึ่งในเรื่องที่นักเรียนทุกคนต่างให้ความสนใจอยู่กับหนังสือเพียงอย่างเดียว