ความสัมพันธ์ของจีนกับสหภาพโซเวียตหลังการปฏิวัติจีน ค.ศ. 1949 จนถึงก่อนการแตกหักช่วงทศวรรษ 1960

นายณัฐภัทร สุวิชาวรพันธุ์

บทคัดย่อ

การศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียตหลังการปฏิวัติจีน ค.ศ. 1949 จนถึงก่อนการแตกหักช่วงทศวรรษ 1960 มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสำคัญของทั้งสองชาติในฐานะประเทศที่ใช้ระบอบคอมมิวนิสต์ขนาดใหญ่ของโลก การเป็นพันธมิตรกันของทั้งสองชาติส่งผลให้การเมืองโลกในยุคสงครามเย็นแบ่งออกเป็นสองฝ่ายใหญ่ คือ ประเทศเสรีประชาธิปไตยและประเทศคอมมิวนิสต์ส่งผลทำให้เกิดความตึงเครียดไปในทุกภาคส่วนของโลก ทั้งซีกโลกตะวันตกและซีกโลกตะวันออก แม้ว่าสุดท้ายการแตกหักระหว่างทั้งสองชาติจะทำให้ค่ายคอมมิวนิสต์ขาดความเป็นเอกภาพ และหลังจากนั้นการแตกหักของทั้งสองชาติส่งผลให้การเมืองโลกผ่อนคลายความตึงเครียดลงอย่างมาก

ผลการวิจัยครั้งนี้พบว่า ความสัมพันธ์ของทั้งสองชาติที่ราบรื่นในหนึ่งทศวรรษแรกหลังจากการปฏิวัติจีน ค.ศ. 1949 มีสาเหตุมาจากการที่ทั้งสองชาติต่างมีจุดประสงค์ทางการเมืองที่ใกล้เคียงกันนั้นคือการขยายอิทธิพลของลัทธิคอมมิวนิสต์ไปทั่วโลก ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศดำเนินมาได้ด้วยดี แต่หลังการอสัญกรรมของสตาลินผู้นำเผด็จการที่อยู่ในอำนาจมากกว่าสองทศวรรษ ผู้นำใหม่ของโซเวียตเห็นความจำเป็นในการปรับนโยบายสงครามเย็นเพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับชาติตะวันตกในยุคที่สงครามเย็นพัฒนาไปสู่การแข่งขันพัฒนาและสะสมอาวุธนิวเคลียร์ และเนื่องด้วยนโยบายสงครามเย็นที่ไม่ตรงกันจึงทำให้ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของค่ายคอมมิวนิสต์สลายตัวลงจนนำไปสู่ความแตกแยกระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียตส่งผลทำให้เกิดการแบ่งขั้วในค่ายคอมมิวนิสต์ และเป็นเหตุให้ความหวังในการก่อการปฏิวัติสากลของระบอบคอมมิวนิสต์ทั่วโลกไม่เกิดขึ้นจริง