ประเพณีรัดเท้ากับการกดขี่สตรีในสังคมจีนสมัยราชวงศ์ซ่งถึงราชวงศ์หมิง

นางสาวอภิชญา นากสุก

บทคัดย่อ

บทความวิจัยเรื่อง ประเพณีรัดเท้ากับการกดขี่สตรีในสังคมจีน สมัยราชวงศ์ซ่งถึงราชวงศ์หมิง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประวัติความเป็นมาและความสำคัญของประเพณีรัดเท้า ปัจจัยที่ส่งผลความเปลี่ยนแปลง รวมถึงผลของประเพณีรัดเท้าที่มีต่อผู้หญิงจีน

ผลการศึกษาพบว่า จุดเริ่มต้นของประเพณีรัดเท้าเริ่มขึ้นเมื่อไรไม่ปรากฏแน่ชัดหากแต่มีหลักฐานในสมัยราชวงศ์ถังใต้ (ค.ศ. 618-907) โดยนางระบำคนโปรดของพระเจ้าหลี่อวี้ จนการรัดเท้าเริ่มแพร่หลายภายในวังและผู้หญิงชนชั้นสูง ทำให้เกิดเป็นประเพณีรัดเท้าที่แพร่ขยายไปสู่ชาวบ้านธรรมดาในภายหลัง โดยมีค่านิยมหลัก 3 ค่านิยม คือ 1. ค่านิยมจากลัทธิขงจื๊อที่มีแนวคิดปิตาธิปไตย ต้องการให้ผู้หญิงเป็นผู้ตาม 2. ค่านิยมความสวยงามของเท้า และ 3. ค่านิยมการแต่งงาน ด้วยค่านิยมหลักนั้นได้ทำให้ประเพณีรัดเท้าแพร่หลายมากยิ่งขึ้นในสมัยราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ. 960-1279) และพัฒนาเจริญรุ่งเรืองในสมัยราชวงศ์หมิง (ค.ศ. 1368-1644) โดยในยุคนี้มีการเกิดซ่องหอนางโลมที่ผู้หญิงได้รัดเท้าเพื่อเพิ่มสีสันทางกามกิจ จนกระทั่งในสมัยราชวงศ์แมนจูหรือราชวงศ์ชิง (ค.ศ. 1644-1911) ประเพณีรัดเท้าได้ถูกสั่งห้ามและมีกฎหมายออกมาบังคับ ประเพณีรัดเท้าหมดไปในสมัยของเหมา เจ๋อ ตุง โดยปัจจัยที่มีผลต่อความเปลี่ยนแปลงของประเพณีรัดเท้าคือ การเข้ามาของราชวงศ์แมนจูที่เปลี่ยนจากการรัดเท้าเป็นการใส่รองเท้าเกี๊ยะ และการเปลี่ยนแปลงสังคมเป็นแบบตะวันตกในสมัยราชวงศ์แมนจูที่มีมากขึ้น มีการออกมาเรียกร้องสิทธิให้สตรีจีนจากนักรณรงค์ ซึ่งผลกระทบจากประเพณีรัดเท้าคือผลกระทบทางด้านร่างกายคือ กระดูกเท้าที่ผิดรูปและอาจพิการได้ รวมถึงผลกระทบทางด้านจิตใจที่เป็นการกักขังอิสรภาพของผู้หญิงจีน