ทรัพยากรท่องเที่ยวในเมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น

โดย นางสาวภัทณี จรูญเรือง

บทคัดย่อ

การทำงานวิจัยเรื่อง “ทรัพยากรท่องเที่ยวในเมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการกระจายตัวของทรัพยากรท่องเที่ยว รายการนำเที่ยวจากบริษัทจัดการนำเที่ยว และแนวโน้มการพัฒนาการท่องเที่ยวของเมืองเกียวโต โดยการศึกษาในครั้งนี้ใช้ข้อมูลทุติยภูมิที่ได้จากองค์กร หนังสือ เอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องรวมทั้งสื่อออนไลน์ เพื่อวิจัยข้อมูลต่างๆ

เมืองเกียวโต หนึ่งในเมืองท่องเที่ยวของประเทศญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก เป็นเมืองที่เต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์แห่งอารยธรรมที่เก่าแก่ อาทิเช่น วัด ศาลเจ้า และธรรมชาติต่างๆ อย่าง สวนหิน แม่น้ำ ป่าเขา ท้องทุ่ง ชนบทที่งดงามและสมบูรณ์ยิ่งไปกว่านั้นเมืองเกียวโตยังเป็นเมืองที่มีการผสมผสานความเป็นสมัยใหม่แบบโมเดิร์นรวมเข้าด้วยกันกับอารธรรมเก่าแก่ได้อย่างลงตัว จึงทำให้มีความหลากหลายในด้านทรัพยากรท่องเที่ยวเพื่อศึกษาการกระจายตัวของทรัพยากรท่องเที่ยวในเมืองเกียวโตจึงแบ่งรูปแบบการท่องเที่ยวตามองค์การท่องเที่ยวโลก หรือ World Tourism Organization : WTOโดยแบ่งเป็น3 รูปแบบหลัก คือ การท่องเที่ยวในแหล่งธรรมชาติ (natural based tourism),รูปแบบการท่องเที่ยวในแหล่งวัฒนธรรม (cultural based tourism) และรูปแบบการท่องเที่ยวในความสนใจพิเศษ (special interest tourism)  ผลจากการศึกษาพบว่าเมืองเกียวโตมีรูปแบบการท่องเที่ยวในแหล่งวัฒนธรรมมากที่สุด รองลงมาได้แก่ รูปแบบการท่องเที่ยวในความสนใจพิเศษ และการท่องเที่ยวในแหล่งธรรมชาติและพบว่าทรัพยากรท่องเที่ยวในแหล่งธรรมชาติที่สำคัญในเมืองเกียวโต อาราชิยามะเป็นทรัพยากรท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สำคัญมากที่สุดทรัพยากรท่องเที่ยวในแหล่งวัฒนธรรมที่สำคัญในเมืองเกียวโต วัดคิโยมิซึและวัดคิงคะคุเป็นทรัพยากรท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่สำคัญมากที่สุด และทรัพยากรท่องเที่ยวในความสนใจพิเศษที่สำคัญในเมืองเกียวโต ย่านกิออนและตลาดนิชิกิเป็นทรัพยากรท่องเที่ยวทางความสนใจพิเศษที่สำคัญมากที่สุด ซึ่งแนวโน้มการพัฒนาการท่องเที่ยวของเมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่นในอนาคตผลจากการศึกษาพบว่านักท่องเที่ยวทั้งชาวต่างชาติและชาวญี่ปุ่นยังคงมีแนวโน้มที่จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในเมืองเกียวโตเพิ่มขึ้นในระดับที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีต่อๆไป ซึ่งวิเคราะห์จากปัจจัยที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวซึ่งถือเป็นปัจจัยพื้นฐาน 3 ประการ คือ ปัจจัยด้านทรัพยากรท่องเที่ยว ปัจจัยด้านตำแหน่งที่ตั้ง ระยะทางและทิศทางปัจจัยด้านการบริการท่องเที่ยว

ดาวน์โหลด บทความวิจัย
icon-pdf