ร้านน้ำชา บทละครพูด 3 องก์ : ความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครและฉากกับสภาพสังคมจีน

โดย  นางสาวป่านทิพย์ พันธ์ทอง

บทคัดย่อ

บทความวิจัยนี้เป็นการศึกษาวรรณกรรมแปลจีนเรื่อง “ร้านน้ำชา : บทละครพูด 3 องก์” หรือ “ฉาก่วน” เป็นพระราชนิพนธ์แปลในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาตัวละครและฉาก และเพื่อศึกษาภาพสะท้อนสังคมจีนในวรรณกรรมจีนแปลเรื่อง “ร้านน้ำชา บทละครพูด 3 องก์” ผลการศึกษาพบว่า ผู้เขียนมีการสร้างฉากโดยอิงจากประวัติศาสตร์ของจีน โดยแบ่งออกเป็น 3 องก์ สาระของบทละครพูดเรื่องนี้สะท้อนผ่านตัวละครต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตัวละครหลัก “หวังลี่ฟา” เถ้าแก่ร้านน้ำชา และบรรยากาศในร้านน้ำชาเก่าแก่นาม “ยู่ไท่” ในเมืองปักกิ่ง อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงผลกระทบที่ผู้คนต่าง ๆ ได้รับจากสภาพสังคมจีนที่เปลี่ยนแปลงไป เกิดภาวะข้าวยากหมากแพง ประชาชนยากลำบาก มีการฉ้อราษฎร์บังหลวง เจ้าหน้าที่บ้านเมืองกดขี่ข่มเหงประชาชน ทั้งนี้ผู้เขียนสามารถถ่ายทอดเรื่องราวประวัติศาสตร์สังคมจีน จากสังคมจารีตเข้าสู้สังคมปัจจุบัน ในช่วงเวลากว่า 5 ทศวรรษไว้ได้อย่างครบถ้วน จนสามารถเรียกได้ว่า วรรณกรรมแปลจีนเรื่องร้านน้ำชานี้เปรียบเสมือน “บันทึกประวัติศาสตร์จีน” เลยก็ว่าได้ อีกทั้งผู้เขียนยังเขียนวรรณกรรมเรื่องนี้ออกมาในรูปของบทละคร เพื่อเพิ่มความน่าสนใจ และทำให้ผู้อ่านสามารถทำความเข้าใจและได้รับรู้ถึงผลกระทบของสภาพสังคมจีนที่มีการเปลี่ยนแปลงไปผ่านตัวละครและฉากได้เป็นอย่างดี

ดาวน์โหลด บทความวิจัย
icon-pdf