อัตลักษณ์กับวัฒนธรรมการสูบบุหรี่ของคนญี่ปุ่น

โดย  นางสาวณิชกานต์ อัคราลีกุล

บทคัดย่อ

สารนิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการสูบบุหรี่ของคนญี่ปุ่น และการสูบบุหรี่กับอัตลักษณ์ของผู้สูบบุหรี่ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน โดยศึกษาผ่านการ์ตูน และฐานข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต แล้วนำแนวคิดทฤษฎีทางสังคมศาสตร์มาใช้ประกอบการวิเคราะห์

ผลการศึกษาพบว่าวัฒนธรรมและอัตลักษณ์การสูบบุหรี่ของคนญี่ปุ่นแบ่งได้เป็น 4 ยุค ดังนี้

ยุคที่ 1 คือ ยุคเริ่มต้นวัฒนธรรมการสูบบุหรี่ของจักรพรรดิและขุนนาง (ค.ศ.1877 – ค.ศ.1903) กลุ่มผู้สูบบุหรี่เป็นเพศชาย ชนชั้นสูงจะสูบบุหรี่ที่ทำขึ้นเป็นพิเศษ ชนชั้นกลางจะสูบบุหรี่ของในประเทศ สถานที่จำหน่ายบุหรี่แต่ละยี่ห้อจะแตกต่างกันออกไป พื้นที่สูบและทิ้งบุหรี่ไม่มีการจัดอย่างชัดเจน และสูบบุหรี่เพื่อเป็นตัวแทนแสดงความกล้าหาญ ความเก่ง และบ่งบอกชนชั้นทางสังคม

ยุคที่ 2 คือ ยุคการเข้ามาของบุหรี่ต่างประเทศ (ค.ศ.1903 – ค.ศ.1982) เพศชายชนชั้นกลางและชนชั้นล่างนิยมสูบไปป์และบุหรี่ เริ่มใช้ตู้ขายบุหรี่อัตโนมัติ ไม่มีการแบ่งพื้นที่สูบบุหรี่แต่ใช้ที่เขี่ยบุหรี่บางพื้นที่ ผู้คนสูบบุหรี่เพื่อบ่งบอกรสนิยม ความทันสมัยผ่านยี่ห้อที่ใช้สูบ และบ่งบอกว่าเป็นคนจริงจังกับงาน

ยุคที่ 3 คือ ยุคบุหรี่สำหรับผู้หญิง (ค.ศ.1982 – ค.ศ.2006) เพศหญิงเริ่มหันมาสูบบุหรี่ บุหรี่แต่ละยี่ห้อเริ่มมีหลากหลายคุณสมบัติมากขึ้น เช่น กลิ่น รสชาติ เมนทอล สถานที่จำหน่ายบุหรี่มีจำนวนมากขึ้น เริ่มมีการแบ่งพื้นที่สูบและทิ้งบุหรี่ในบางพื้นที่  เพศหญิงสูบบุหรี่เพื่อแสดงความเป็นผู้หญิงสมัยใหม่  และความเท่าเทียมกับเพศชาย

ยุคที่ 4 คือ ยุคกฎหมายควบคุมการสูบบุหรี่ (ค.ศ.2006 – ปัจจุบัน) เริ่มมีการบังคับใช้กฎหมายกับพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของคนญี่ปุ่น ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ซื้อและสูบบุหรี่ ใช้ตู้ขายบุหรี่อัตโนมัติซึ่งต้องใช้คู่กับการ์ด Taspo เพื่อแสดงอายุ มีการแบ่งสถานที่สูบและที่ทิ้งบุหรี่อย่างชัดเจน ผู้คนปฏิบัติตามกฎหมายเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีจะสูบบุหรี่เพื่อแสดงความเป็นผู้ใหญ่ และต่อต้านต่อกฎหมายที่มี

ดาวน์โหลด บทความวิจัย
icon-pdf