การศึกษาการรับมือแผ่นดินไหวในญี่ปุ่น

โดย นางสาวพิมพกานต์ ปานจินดา

บทคัดย่อ

สารนิพนธ์เรื่องการศึกษาการรับมือแผ่นดินไหวในญี่ปุ่น มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาภูมิศาสตร์ของประเทศญี่ปุ่น การเกิดแผ่นดินไหวและการรับมือจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว โดยมีวิธีการศึกษาจากการรวบรวมข้อมูลจากเอกสารและสื่อออนไลน์ เช่น หนังสือและเว็บไซต์ จากนั้นนำข้อมูลมาวิเคราะห์เชิงบรรยาย

ผลการศึกษาพบว่าประเทศญี่ปุ่นตั้งอยู่ในแนววงแหวนแห่งไฟ บริเวณรอยต่อระหว่างแผ่นเปลือกโลก 3 แผ่น ทำให้เกิดแผ่นดินไหวพลังงานต่ำบ่อยครั้ง และยังมีแผ่นดินไหวพลังงานสูงที่ทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรง ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นร่วมกับภาคเอกชนได้ออกมาตรการการรับมือมาตั้งแต่อดีตจนกระทั่งออกกฎหมายมาตรฐานการปลูกสิ่งก่อสร้างเมื่อ ค.ศ.1950 เนื่องมาจากแผ่นดินไหวฟุคุย ค.ศ.1948 ซึ่งมีแรงสั่นสะเทือนรุนแรง 7 แมกนิจูด มีผู้เสียชีวิตกว่า 3,800 คน สาเหตุเสียชีวิตส่วนมากมาจากการพังทลายของบ้านเรือน แต่หลังจากกฎหมายนี้ออกมายอดผู้เสียชีวิตจากการพังทลายของบ้านเรือนลดน้อยลง และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการภัยพิบัติเมื่อ ค.ศ.1961 เรียกว่ากฎหมายพื้นฐานเพื่อรับมือกับภัยพิบัติ (Disaster Countermeasures Basic Act ) โดยแนวทางการรับมือแผ่นดินไหวมีดังนี้ มีการจัดตั้งศูนย์รวบรวมข้อมูลคณะรัฐมนตรี และเลขาธิการคณะรัฐมนตรีด้านการจัดการภาวะวิกฤต เพื่อสร้างศักยภาพในการจัดการ จัดทำระบบข้อมูลโดยสำนักงานคณะรัฐมนตรีเพื่อประเมินสถานการณ์และกระจายข้อมูลไปยังพื้นที่เกิดเหตุการณ์ได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งพัฒนาระบบสารสนเทศที่มีความทนทานเนื่องจากเมื่อเกิดเหตุขึ้น การสื่อสารมักขัดข้อง แต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อศึกษาและวางแนวทางการรับมือภัยพิบัติขนาดใหญ่ที่จะเกิดในอนาคตอันใกล้ เพิ่มมาตรฐานของสิ่งปลูกสร้างให้ทนทานต่อแรงสั่นสะเทือน การช่วยเหลือตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยเมื่อเกิดเหตุขึ้นทางหน่วยงานไม่สามารถเข้าถึงประชาชนได้อย่างทั่วถึง จึงมีการฝึกซ้อมแผนรับมือกับภัยพิบัติในชุมชนส่งเสริมให้ประชาชนเตรียมพร้อมกับภัยพิบัติเสมอและถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่ประชาชน

ดาวน์โหลด บทความวิจัย

icon-pdf