การศึกษาภาพของคนเวียดนามในสังคมไทยในวรรณกรรมเรื่อง เกียวบาวนาจอก

โดย นางสาวอภิญญา เสาวแก้ว

บทคัดย่อ

บทความวิจัยการศึกษาภาพของคนเวียดนามในสังคมไทยในวรรณกรรมเกียวบาวนาจอกวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาภาพของคนเวียดนามในสังคมไทยที่ปรากฏผ่านวรรณกรรมเกียวบาวนาจอก ของภาณุมาศ ภูมิถาวร  โดยศึกษาภูมิหลังด้านประวัติศาสตร์การอพยพเข้ามาในประเทศไทย ภาพสะท้อนคนเวียดนามในสังคมไทย และกลวิธีการเล่าเรื่อง

ผลการศึกษาพบว่า การอพยพเข้าสู่ไทยของชาวเวียดนาม เริ่มตั้งแต่ในสมัยอยุธยาจนถึงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2  แต่การอพยพครั้งใหญ่คือ การหนีการปราบปรามของฝรั่งเศสที่ท่าแขกมายังจังหวัดนครพนม เพราะเป็นจุดที่ใกล้และตั้งรกรากในบ้านนาจอก ซึ่งฉากหลังของวรรณกรรม เกียวบาวนาจอก ดังปรากฏในภาพสะท้อนนี้ ได้แก่ ที่อยู่อาศัย อาชีพ อาหาร พิธีกรรม ภาษา ตลอดจนการปลูกฝังจิตสำนึกรักชาติของชาวเวียดนาม

การรับรู้ภาพของคนเวียดนามในเกียวบาวนาจอกผ่านมุมมองของคนใน คือ สายตาของลูกหลานชาวเวียดนามอพยพรุ่นที่ 2  จะเห็นว่า คนเวียดนามสามัคคี ขยัน อดทน และรักประเทศชาติ  ซึ่งสอดคล้องกับกลวิธีการเล่าเรื่องที่ถ่ายทอดมุมมองของเด็กชายชาวญวน  เป็นการเล่าเรื่องแบบ “ตัวละคร-ผู้นิทัศน์” สลับกับ “ผู้เล่าเรื่อง-ผู้นิทัศน์”  ส่งผลให้ผู้อ่านมีอารมณ์ร่วมไปกับตัวละคร  นอกจากนี้การใช้ตัวละครหลัก เป็นเด็กชายชาวเวียดนามอพยพรุ่นที่ 2  ที่เกิดและเติบโตในประเทศไทย  ยังแสดงให้เห็นความรู้สึกในส่วนที่คนเวียดนามอพยพมีต่อแผ่นดินไทย  ด้วยความน่าสนใจทำให้วรรณกรรมเรื่องนี้จึงเป็นวรรณกรรมที่สานสัมพันธ์ไทยกับเวียดนาม

ดาวน์โหลด บทความวิจัย

icon-pdf