การศึกษาทางภาษาศาสตร์สังคมของ “ชื่อกลาง” ในวัฒนธรรมเวียดนาม : กรณีศึกษาโครงสร้างชื่อของคนเวียดนามในจังหวัดฮาติ่ง ประเทศเวียดนาม

โดย นางสาวอมราพร ขวัญชุม

บทคัดย่อ

บทความวิจัยเรื่องการศึกษาทางภาษาศาสตร์สังคมของ “ชื่อกลาง” ในวัฒนธรรมเวียดนาม : กรณี ศึกษาโครงสร้างชื่อของคนเวียดนามในจังหวัดฮาติ่ง ประเทศเวียดนาม มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาศัพท์และการแปรของศัพท์ที่ใช้ในการตั้งชื่อกลางของคนเวียดนาม 3 ระดับอายุ รวมถึงศึกษาทัศนคติที่มีต่อการตั้งชื่อกลางด้วยศัพท์บ่งเพศ ผู้ศึกษาเก็บรวบรวมข้อมูลชื่อของคนเวียดนามจำนวนทั้งสิ้น 240 ชื่อ รุ่นอายุละ 80 ชื่อ แบ่งออกเป็นเพศชายและเพศหญิงอย่างละ 40 ชื่อในแต่ละรุ่นอายุ การเก็บรวบรวมข้อมูลใช้แบบสอบถามประกอบการสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลหลักซึ่งเป็นแรงงานชาวเวียดนามที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย

ผลการศึกษาศัพท์ที่ใช้ในการตั้งชื่อกลางของคนเวียดนามที่จังหวัดฮาติ่ง ประเทศเวียดนาม จำนวน 240 ชื่อ พบว่าศัพท์ที่ใช้ตั้งชื่อกลางมีมากถึง 50 ศัพท์ แบ่งออกได้ 6 กลุ่ม ได้แก่ 1) ศัพท์บ่งเพศ 2) ศัพท์บ่งเพศโดยอ้อม 3) ศัพท์วงศ์ตระกูล 4) ศัพท์ชื่อกลางของแม่ 5) ศัพท์แรกของชื่อเรียก และ 6) ไม่มีชื่อกลาง พบ 1 ชื่อ ด้านการแปรของศัพท์ที่ใช้ในการตั้งชื่อกลางพบว่า ศัพท์บ่งเพศยังคงใช้มากที่สุดในทุกรุ่นอายุ แต่ใช้ลดลงจากรุ่นอายุที่ 1 จนถึงรุ่นอายุที่ 3 ในขณะที่ศัพท์แรกของชื่อเรียกใช้เพิ่มขึ้นมากอย่างเห็นได้ชัดในคนรุ่นที่ 3 ด้านทัศนคติพบว่าคนเวียดนามยังคงมีทัศนคติเชิงบวกต่อการตั้งชื่อกลางด้วยศัพท์บ่งเพศอยู่ในระดับกลางค่อนสูง แต่มีแนวโน้มเห็นประโยชน์และความสำคัญของศัพท์บ่งเพศลดลง ผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าชื่อกลางของคนเวียดนามจะยังคงดำรงอยู่ต่อไป แต่อาจจะเปลี่ยนแปลงจากการใช้ศัพท์บ่งเพศมาใช้ศัพท์อื่น ๆ แทน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้คำแรกของชื่อเรียกแทนศัพท์บ่งเพศตามวิถีเดิม ดังหลักฐานที่พบในชื่อกลางของคนเวียดนามรุ่นอายุที่ 3 ซึ่งเป็นตัวแทนของภาษาเวียดนามในอนาคต

ดาวน์โหลด บทความวิจัย

icon-pdf