การศึกษาทางภาษาศาสตร์สังคมของ “ชื่อกลาง” ในวัฒนธรรมเวียดนาม : กรณีศึกษาโครงสร้างชื่อของคนเวียดนามในจังหวัดฮาติ่ง ประเทศเวียดนาม

บทความวิจัยเรื่องการศึกษาทางภาษาศาสตร์สังคมของ “ชื่อกลาง” ในวัฒนธรรมเวียดนาม : กรณี ศึกษาโครงสร้างชื่อของคนเวียดนามในจังหวัดฮาติ่ง ประเทศเวียดนาม มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาศัพท์และการแปรของศัพท์ที่ใช้ในการตั้งชื่อกลางของคนเวียดนาม 3 ระดับอายุ รวมถึงศึกษาทัศนคติที่มีต่อการตั้งชื่อกลางด้วยศัพท์บ่งเพศ ผู้ศึกษาเก็บรวบรวมข้อมูลชื่อของคนเวียดนามจำนวนทั้งสิ้น 240 ชื่อ รุ่นอายุละ 80 ชื่อ แบ่งออกเป็นเพศชายและเพศหญิงอย่างละ 40 ชื่อในแต่ละรุ่นอายุ การเก็บรวบรวมข้อมูลใช้แบบสอบถามประกอบการสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลหลักซึ่งเป็นแรงงานชาวเวียดนามที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย

การศึกษาภาพของคนเวียดนามในสังคมไทยในวรรณกรรมเรื่อง เกียวบาวนาจอก

บทความวิจัยการศึกษาภาพของคนเวียดนามในสังคมไทยในวรรณกรรมเกียวบาวนาจอกวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาภาพของคนเวียดนามในสังคมไทยที่ปรากฏผ่านวรรณกรรมเกียวบาวนาจอก ของภาณุมาศ ภูมิถาวร โดยศึกษาภูมิหลังด้านประวัติศาสตร์การอพยพเข้ามาในประเทศไทย ภาพสะท้อนคนเวียดนามในสังคมไทย และกลวิธีการเล่าเรื่อง

ภาพสะท้อนสังคมเวียดนามผ่านเพลงเด็กร้องเล่นภาษาเวียดนามในสื่อออนไลน์

บทความวิจัยเรื่องภาพสะท้อนสังคมเวียดนามผ่านเพลงเด็กร้องเล่นภาษาเวียดนามในสื่อออนไลน์ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาภาพสะท้อนสังคมที่ปรากฏในเพลงเด็กร้องเล่นภาษาเวียดนาม โดยรวบรวมเพลงเด็กภาษาเวียดนามจํานวน 41 เพลงจากสื่อออนไลน์ ที่เป็นเพลงสำหรับเด็กช่วงอายุ 3-5 ปี ผู้วิจัยจะเลือกศึกษาเฉพาะเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับประเพณีเวียดนาม นำมาจัดประเภท วิเคราะห์ข้อมูลและนำมาเสนอผลแบบพรรณาวิเคราะห์

ปัญหาการออกเสียงสระภาษาเวียดนามของนักศึกษาไทย : กรณีศึกษานักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขาเอเชียศึกษา (สาขาภาษาเวียดนาม) คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

บทความวิจัยเรื่องปัญหาการออกเสียงสระภาษาเวียดนามของนักศึกษาไทย : กรณีศึกษานักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขาวิชาเอเชียศึกษา (ภาษาเวียดนาม) คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัญหาการออกเสียงสระภาษาเวียดนามของนักศึกษาไทยชั้นปีที่1 สาขาวิชาเอเชียศึกษา (ภาษาเวียดนาม) ที่เรียนภาษาเวียดนามขั้นพื้นฐานระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน จำนวน 24 คน โดยผู้วิจัยสร้างรายการคำศัพท์จำนวน 90 คำ ทั้งหมดจำนวน 24 ชุด เพื่อใช้ทดสอบการออกเสียงสระโดยให้นักศึกษาอ่านออกเสียงคำศัพท์ภาษาเวียดนามที่กำหนด ผู้วิจัยบันทึกเสียงของนักศึกษาที่อ่านคำศัพท์ด้วยเครื่องบันทึกเสียง และจัดเรียบเรียงในรูปแบบสัทอักษร (Phonetic alphabet) จากนั้นจึงวิเคราะห์ปัญหาการออกเสียงสระของนักศึกษา

ทางตัน: ภาพสะท้อนสังคมเวียดนามยุคอาณานิคมผ่านตัวละครและฉาก

บทความวิจัยเรื่องทางตัน: ภาพสะท้อนสังคมเวียดนามยุคอาณานิคมผ่านตัวละครและฉาก มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาภาพสะท้อนสังคมเวียดนามในยุคอาณานิคมผ่านตัวละครและฉาก โดยศึกษาจากนวนิยายแปลเรื่องทางตัน ของเหงียน คอง โฮน

การวิเคราะห์แนวคิดและตัวละครชายในนิทานพื้นบ้านเวียดนาม

บทความวิจัยเรื่องการวิเคราะห์แนวคิดและตัวละครชายในนิทานพื้นบ้านเวียดนาม มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์แนวคิด สถานภาพ บทบาท และวิธีการนำเสนอตัวละครที่ปรากฏในนิทานพื้นบ้านเวียดนาม โดยศึกษาผ่านนิทานพื้นบ้านเวียดนามที่ได้รับการตีพิมพ์และแปลเป็นภาษาไทยจำนวน 29 เรื่อง

การศึกษาสำนวนจีนที่เกี่ยวกับอาหารการกิน

บทความวิจัยเรื่องการศึกษาสำนวนจีนที่เกี่ยวกับอาหารการกิน มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะของสำนวนจีน โครงสร้างทางภาษาของสำนวนจีน และศึกษาภาพสะท้อนของสำนวนจีนที่เกี่ยวกับอาหารการกิน โดยศึกษาข้อมูลจากสำนวนจีน และข้อมูลที่เกี่ยวกับอาหารการกินของคนจีน

ป้ายชื่อร้านค้าภาษาจีน : กรณีศึกษาบริเวณสะพานควายและเยาวราช

บทความวิจัยเรื่องป้ายชื่อร้านค้าภาษาจีน : กรณีศึกษาบริเวณสะพานควายและเยาวราช มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาองค์ประกอบทางภาษาของป้ายร้านค้า ความสัมพันธ์ระหว่างความหมายของชื่อร้านค้ากับสินค้าและบริการ ตลอดจนความเป็นพหุวัฒนธรรม โดยการสำรวจข้อมูลจากป้ายร้านค้าบริเวณเยาวราชและสะพานควาย จำนวน 180 ป้าย แบ่งเป็นบริเวณเยาวราช 150 ป้ายและ สะพานควาย 30 ป้าย

ความหมายของตัวเลขที่ปรากฎในสำนวนจีน

บทความวิจัยเรื่อง ความหมายของตัวเลขที่ปรากฏในสำนวนจีน มีวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือ 1) เพื่อศึกษาความหมายของตัวเลขที่ปรากฏในสำนวนจีน 2) เพื่อศึกษาแนวคิดทางสังคมที่มีผลต่อการใช้ตัวเลขที่ปรากฏในสำนวนจีน โดยใช้ข้อมูลจากหนังสือ 100 สำนวนจีนเกี่ยวกับตัวเลขของ อาศรม-จีนสยาม จำนวน 100 ข้อมูล

สำนวนจีนที่มีคำเกี่ยวกับอวัยวะ

บทความวิจัยเรื่องสำนวนจีนที่มีคำเกี่ยวกับอวัยวะ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะโครงสร้างทางภาษาของสำนวน ความหมายของสำนวน รวมถึงภาพสะท้อนที่ปรากฏผ่านสำนวนจีนที่มีคำเกี่ยวกับอวัยวะ โดยมีวิธีการศึกษาจากการรวบรวมข้อมูลสำนวนจีนจากหนังสือต่างๆ จำนวน 6 เล่ม ซึ่งสามารถคัดแยกสำนวนจีนที่มีคำเกี่ยวกับอวัยวะได้จำนวน 88 สำนวน

การศึกษาตัวละครเอกฝ่ายชาย “ฮั่วชวี่ปิ้ง” ในวรรณกรรมแปลจีนเรื่องลำนำทะเลทราย

บทความวิจัยนี้เป็นการศึกษาวรรณกรรมแปลจีนเรื่องลำนำทะเลทราย มี ถงหัว เป็นผู้แต่ง และ มดแดง เป็นผู้แปล วัตถุประสงค์เพื่อศึกษาตัวละครเอกฝ่ายชาย “ฮั่วชวี่ปิ้ง” ด้านลักษณะของตัวละคร และกลวิธีการสร้างตัวละคร

การศึกษาโครงสร้างการเล่าเรื่องและการใช้ตำนานจีนในนวนิยายแปลจีนชุดสืบสยอง ตอนศพซ่อนกระบี่ และตอนศพพิพากษา

บทความวิจัยเรื่องการศึกษาโครงสร้างการเล่าเรื่องและการใช้ตำนานจีนในนวนิยายแปลจีนชุดสืบสยอง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาโครงสร้างการเล่าเรื่องในฐานะนวนิยายสืบสวนสอบสวน และเพื่อศึกษาการใช้ตำนานเรื่องเล่าของจีนในนวนิยายเรื่องนี้

“วรรณกรรมแปลญี่ปุ่นสะท้อนสังคม : กรณีศึกษา วรรณกรรมแปลเรื่อง แท็กซี่มีแมว”

บทความวิจัยเรื่อง วรรณกรรมแปลญี่ปุ่นสะท้อนสังคม กรณีศึกษาวรรณกรรมแปลเรื่องแท็กซี่มีแมว เป็นการศึกษาวรรณกรรมแปลญี่ปุ่นเรื่องแท็กซี่มีแมวซึ่งเป็นผลงานของยูจินากาโมริ อุภาวรรณ เบ็ญจโภคี เป็นผู้แปล วัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวัฒนธรรมและสภาพสังคมที่สะท้อนผ่านวรรณกรรมโดยวิเคราะห์จากพฤติกรรมตัวละคร

การศึกษาวิเคราะห์นวนิยายแปลจีนเรื่อง “พานพบอีกครายามบุปผาโปรยปราย”

บทความวิจัยเรื่อง การศึกษาวิเคราะห์นวนิยายแปลจีนเรื่อง “พานพบอีกครายามบุปผาโปรยปราย” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาองค์ประกอบ และคุณค่าของวรรณกรรม

ผลการศึกษาพบว่านวนิยายเรื่องนี้มีโครงเรื่องเป็นเรื่องราวความรักของภูติดอกฉาชื่อหงหนิงและเทพเซียนชื่อจิ่นซิ่ว โดยผู้แต่งได้สร้างปมความขัดแย้ง 2 ประการคือ ความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์และความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติและสิ่งเหนือธรรมชาติ

การเปลี่ยนแปลงด้านความหมายของคำยืมภาษาจีนที่ปรากฏในภาษาไทย

บทความวิจัยเรื่องการเปลี่ยนแปลงด้านความหมายของคำยืมภาษาจีนที่ปรากฏในภาษาไทยมีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์คำยืมภาษาจีนที่ปรากฏในภาษาไทย และการเปลี่ยนแปลงความหมายของคำยืมภาษาจีนที่ปรากฏในภาษาไทย โดยผู้วิจัยมีวิธีการเก็บรวบรวมคำยืมภาษาจีนที่ปรากฏในภาษาไทยจากหนังสือ “คำจีนสยามภาพสะท้อนปฏิสัมพันธ์ไทย-จีน” ของวรศักดิ์ มหัทธโนบล เพื่อศึกษาเฉพาะคำยืมที่มีการเปลี่ยนแปลงความหมายพบจำนวน 159 คำ ซึ่งผู้วิจัยใช้กรอบความคิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงความหมายของคำยืมของ สมทรง บุรุษพัฒน์ เป็นแนวทางการวิเคราะห์

วรรณกรรมแปลจีนเรื่อง บุปผาซ่อนจันทร์ ของจินนี หลิน

บทความวิจัยเรื่องวรรณกรรมแปลจีนเรื่องบุปผาซ่อนจันทร์ ของจินนี หลิน มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเป็นนวนิยายรักและเป็นนวนิยายสืบสวนสอบสวนของวรรณกรรมแปลจีน เรื่อง บุปผาซ่อนจันทร์ รวมทั้งศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างนวนิยายรักกับนวนิยายสืบสวนสอบสวนในวรรณกรรมแปลจีนเรื่องดังกล่าว