อิทธิพลอินเดียที่ปรากฏในงานจิตรกรรมถ้ำตุนหวง หมายเลข 57

โดย นางสาวณัฐธิดา เรืองนนท์

บทคัดย่อ

สารนิพนธ์เรื่อง อิทธิพลอินเดียที่ปรากฏในงานจิตรกรรมถ้ำตุนหวง หมายเลข 57 มีวัตถุประสงค์เพื่อเพื่อศึกษาอิทธิพลอินเดียที่ปรากฏในงานจิตรกรรมถ้ำตุนหวง หมายเลข 57 โดยศึกษาจากภาพจิตรกรรมที่ปรากฏภายในถ้ำตุนหวง หมายเลข 57 วิเคราะห์เปรียบเทียบกับศิลปะอินเดียในราวพุทธศตวรรษที่ 10-14

ผลการศึกษาพบว่า งานจิตรกรรมถ้ำตุนหวง หมายเลข 57 ส่วนใหญ่ได้อิทธิพลมาจากศิลปะอินเดียสมัยคุปตะในด้านต่าง ๆ ได้แก่ ด้านรูปแบบ เช่น ลักษณะของพระพุทธรูปที่ปรากฏในกริยาประทับยืนมีลักษณะพระวรกายบิดไปด้านข้าง ยืนตริภังค์ พระบาทแยกออกห่างจากกันเล็กน้อย ส่วนแบบประทับนั่งมีลักษณะนั่งขัดสมาธิเพชร พระหัตถ์แสดงมุทรา ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของศิลปะอินเดียภาคเหนือ และภาพนางอัปสร เป็นเทพีแห่งความสวยงามและดนตรีมาร่วมชุมนุมในพิธีกรรมต่าง ๆ ที่พระพุทธองค์ทรงเสด็จตามคติของพุทธศาสนานิกายมหายาน ภาพนางอัปสรเหล่านี้ส่วนใหญ่เปลือยอก เหาะล่องลอยอยู่กลางอากาศ มีผิวสีคล้ำแบบชาวอินเดีย ด้านเนื้อเรื่องที่นำไปเขียนภาพ ส่วนมากมาจากวรรณกรรมทางศาสนาพุทธ โดยเขียนเรื่องราวของอดีตและอนาคตพุทธเจ้า พุทธประวัติ และพระอาทิพุทธเจ้า ตามคติพุทธมหายาน

ดาวน์โหลด บทความวิจัย

icon-pdf