ศิลปะภาพพิมพ์ปีศาจของโทริยามะ เซกิเอ็น

นายธนกฤต ในจิตร์

บทคัดย่อ

สารนิพนธ์เรื่องศิลปะภาพพิมพ์ปีศาจของโทริยามะ เซกิเอ็น มีจุดประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบและแนวความคิดในผลงานภาพพิมพ์ปีศาจของโทริยามะ เซกิเอ็น รวมถึงลักษณะเฉพาะของผลงาน โดยศึกษาจากภาพพิมพ์ปีศาจทั้งหมด 51 ภาพ ในผลงานหนังสือรวมภาพพิมพ์ปีศาจชุดแรกในชื่อ 畫圖百鬼夜行 (Gazu Hyakki Yagyou / สมุดภาพชุดขบวนร้อยอสูรยามวิกาล) ร่วมกับการวิเคราะห์ข้อมูลโดยเปรียบเทียบกับศิลปินที่มีผลงานเกี่ยวกับปีศาจในช่วงเวลาก่อนหน้า และตำนานมุขปาฐะต่างๆ ที่เกี่ยวกับปีศาจญี่ปุ่น

ผลการศึกษาพบว่า ภาพพิมพ์ปีศาจของโทริยามะ เซกิเอ็นมีเอกลักษณ์อย่างหนึ่งคือ การเพิ่มฉากเข้าไปในภาพเพื่อแสดงให้เห็นถึงเนื้อเรื่อง สัดส่วนที่แน่นอนของภาพ และบ่งชี้ถึงถิ่นที่อยู่ของปีศาจแต่ละตน อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงรูปแบบที่สำคัญของปีศาจญี่ปุ่น ซึ่งคาดว่ามีการนำพื้นฐานที่ใช้กำหนดรูปแบบดังกล่าวมาจากหนังสือ 今昔物語集 (Konjaku Monogatarishuu) ซึ่งเป็นหนังสือที่รวมเรื่องเล่ามุขปาฐะในสมัยเฮอัน โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือรูปร่าง หน้าตา หรือท่าทางคล้ายมนุษย์แต่ไม่ใช่มนุษย์ และรูปร่าง หน้าตาคล้ายสัตว์แต่ท่าทางเหมือนมนุษย์ ส่วนใหญ่ปรากฏในลักษณะของคนสูงอายุ หรือหญิงสาว และทุกตนในภาพจะปรากฏให้เห็น ถึงลักษณะที่พิการ หรือผิดธรรมชาติ เช่น มีตาเดียว ไม่มีขา มีเขี้ยวฟันแหลมคม หรือมีนิ้วมือ นิวเท้าเพียง 3 นิ้ว หากมีลักษณะคล้ายสัตว์ ก็จะเป็นสัตว์ในวงศ์จำพวกสุนัข แมว หรือเพียงพอนเป็นหลัก และแสดงท่าทางคล้ายมนุษย์ เช่น ยืน 2 ขา หรือนั่งขัดสมาธิ รวมถึงพวกที่มีบางส่วนของร่างกายที่ผิดธรรมชาติในตัวสัตว์ชนิดนั้น ๆ เช่น กุ้งที่มีหัวเป็นนก เสือที่มีผิวเป็นเกล็ด หรือวัวที่มีมือเป็นกรงเล็บยาว

บทความวิจัยฉบับเต็ม