รูปแบบศิลปกรรมจีนภายในศาลเจ้าแม่กวนอิม มูลนิธิเทียนฟ้า

นางสาวพิมลรัตน์ คมประพันธ์

บทคัดย่อ

สารนิพนธ์ “รูปแบบศิลปกรรมจีนภายในศาลเจ้าแม่กวนอิม มูลนิธิเทียนฟ้า” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการรับอิทธิพลศิลปกรรมจีนร่วมสมัยที่ปรากฏในศาลเจ้าแม่กวนอิม มูลนิธิเทียนฟ้า และศึกษาวัฒนธรรมความเชื่อของคนไทยเชื้อสายจีน เรื่องราวของสิ่งศักดิ์สิทธิ์เกี่ยวกับเจ้าแม่กวนอิมผ่านทางผลงานศิลปะ รวมถึงศึกษารูปแบบงานที่เกี่ยวข้องกับความหมายเชิงสัญลักษณ์ โดยมีวิธีการศึกษาจากรูปแบบงานศิลปกรรมที่ปรากฏในศาลเจ้าแม่กวนอิม มูลนิธิเทียนฟ้า

ผลการศึกษาพบว่า การอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวจีนในประเทศไทยไม่เพียงเพื่อเข้ามาแสวงหาโอกาสการทำงานเท่านั้น หากการเข้ามาของชาวจีนอพยพยังเป็นจุดเริ่มต้นของการเผยแพร่ทางด้านวัฒนธรรมจีนเข้าสู่สังคมไทย ผ่านการยึดถือธรรมเนียมปฏิบัติของชาวจีนที่ย้ายเข้ามา ในกลุ่มชนชาวจีนผู้วิจัยพบว่ายังสามารถถูกจัดแบ่งแยกกลุ่มคนตามกลุ่มภาษาได้อีก เนื่องจากจีนเป็นแผ่นดินที่มีขนาดใหญ่จึงทำให้ในแต่ละภูมิภาคมีการสร้างสรรค์วัฒนธรรมที่แตกต่างกันในการใช้ชีวิตเพื่อให้สอดคล้องกับพื้นที่ที่ตนอาศัย ดังนั้น ในกลุ่มชาวจีนที่เข้ามาอาศัยในประเทศไทยจึงมีการแสดงออกทางด้านวัฒนธรรมผ่านรูปแบบวิถีชีวิตของตนที่แตกต่างกันออกไปตามกลุ่มภาษาของตน เช่นเดียวกับในงานรูปแบบศิลปกรรมของแต่ละกลุ่มภาษา ซึ่งในสารนิพนธ์เล่มนี้ ผู้วิจัยได้นำข้อมูลผลงานศิลปกรรมของศาลเจ้าแม่กวนอิม มูลนิธิเทียนฟ้า หนึ่งในศาสนสถานที่กลุ่มคนทั้งในและนอกเขตพื้นที่ต่างให้ความเคารพนับถือเป็นจำนวนมากมาเป็นกรณีศึกษา ศาลเจ้าดังกล่าวตั้งอยู่ภายในพื้นที่เขตสัมพันธวงศ์ โดยในการศึกษาผู้วิจัยได้แบ่งหัวข้อการศึกษารูปแบบศิลปกรรมภายในศาลเจ้าออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ด้านสถาปัตยกรรม ด้านประติมากรรม และด้านจิตรกรรม

จากการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูล ผู้วิจัยพบว่าในพื้นที่หนึ่งไม่ได้มีเพียงกลุ่มชาวจีนเพียงภาษาเดียวเท่านั้นที่อาศัยอยู่ ดังนั้น การสร้างสรรค์รูปแบบผลงานทางด้านศิลปะจึงเป็นรูปแบบที่มีความหลากหลาย ผสมผสานความเป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มจีนแต่ละภาษาเข้าด้วยกัน โดยในผลงานนั้นๆ จะมีจุดเด่นทางด้านกลุ่มภาษาใดภาษาหนึ่งปรากฎให้เห็นได้ชัด เนื่องจากความสัมพันธ์เชิงพื้นที่บริเวณรอบศาลเจ้า ซึ่งในกรณีของศาลเจ้าแม่กวนอิม มูลนิธิเทียนฟ้า เป็นศาลเจ้าที่จัดอยู่ในศาลเจ้าของกลุ่มชาวจีนแต้จิ๋ว สาเหตุเพราะเมื่อศึกษาผลงานแต่ละประเภท ความโดดเด่นด้านศิลปกรรมในศาลเจ้าส่วนใหญ่เป็นแบบจีนแต้จิ๋ว ประกอบกับบริเวณโดยรอบที่ตั้งศาลเจ้าเป็นชุมชนชาวจีนแต้จิ๋ว รูปแบบผลงานที่สร้างขึ้นมาส่วนใหญ่จึงเป็นการตอบสนองต่อความเชื่อ และวัฒนธรรมของชาวจีนแต้จิ๋วเป็นหลัก

บทความวิจัยฉบับเต็ม