อิทธิพลปรัชญาความสัมพันธ์ทั้งห้าของขงจื่อหลังการปฏิวัติวัฒนธรรม

โดย นางสาววิชิตา งามทับทิม

บทคัดย่อ

งานวิจัยฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปรัชญาเรื่องความสัมพันธ์ทั้งห้าของขงจื่อที่แบ่งคู่ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลไว้ 5 คู่ ได้แก่ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับผู้ใต้ปกครอง บิดากับบุตร สามีกับภรรยา พี่กับน้อง และเพื่อนกับเพื่อน โดยจะศึกษาและวิเคราะห์อิทธิพลของแนวคิดเรื่องความสัมพันธ์ทั้งห้าที่มีต่อสังคมจีน ทั้งก่อนและหลังสมัยปฏิวัติวัฒนธรรม

ผลการศึกษาพบว่า ปรัชญาความสัมพันธ์ทั้งห้าในยุคศักดินา มีอิทธิพลต่อสังคมจีนเป็นอย่างมาก ถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติตนของคนในสังคมเพื่อให้สังคมมีระเบียบ ด้วยการสนับสนุนระบบชนชั้นและสถาบันทางการเมืองที่มีความมั่นคง แต่หลังจากที่รูปแบบการเมืองการปกครองของประเทศจีนเปลี่ยนมาปกครองด้วยระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ซึ่งมีอุดมการณ์สร้างสังคมให้ผาสุก ด้วยความเท่าเทียมกันทางสังคม แนวคิดความเชื่อดั้งเดิมของคนจีนจึงถูกปรับเปลี่ยนด้วยการปฏิวัติทางวัฒนธรรม เพื่อให้สังคมคอมมิวนิสต์จีนเป็นสังคมที่ไร้ซึ่งชนชั้น ดังนั้นปรัชญาความสัมพันธ์ทั้งห้าของขงจื่อที่มีลักษณะส่งเสริมระบบชนชั้น จึงขัดกับเป้าหมายในการปฏิวัติวัฒนธรรม เป็นผลให้การปฏิวัติวัฒนธรรมมุ่งมาวิพากษ์ปรัชญาขงจื่อ เพื่อยกเลิกระบบชนชั้นและล้มล้างสถาบันทางสังคมของยุคศักดินาที่สนับสนุนด้วยแนวคิดทางปรัชญาเรื่องความสัมพันธ์ทั้งห้าของลัทธิขงจื่อ ปรัชญาความสัมพันธ์ทั้งห้าจึงถูกลดค่าลง แต่เมื่อสิ้นสุดการปฏิวัติวัฒนธรรม ปรัชญาความสัมพันธ์ทั้งห้าก็กลับมามีบทบาทในสังคมจีนอีกครั้ง เนื่องจากความเข้มข้นของอุดมคติสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ลดลง และความต้องการสร้างความปรองดองในสังคมจีนมีมากขึ้น

ดาวน์โหลด บทความวิจัย
icon-pdf