การศึกษาวัฒนธรรมด้านอาหารในมณฑลยูนนาน

นางสาวณัฐรดา นามสว่าง

บทคัดย่อ

สารนิพนธ์เรื่อง การศึกษาวัฒนธรรมด้านอาหารในมณฑลยูนนานมีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์สภาพภูมิศาสตร์ที่ส่งผลให้เกิดวัตถุดิบสำคัญในการปรุงอาหาร ศึกษาประเภทอาหารในมณฑลยูนนาน และเพื่อวิเคราะห์โอกาสในการนำอาหารยูนนานมาเผยแพร่ในประเทศไทย โดยมีวิธีการศึกษาคือการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลทุติยภูมิจากข้อมูลในสื่ออิเล็กทรอนิกส์และเอกสารงานวิจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และทำแบบสอบถามประชากรชาวไทยช่วงอายุระหว่าง 18-30 ปี เกี่ยวกับการบริโภคอาหารจีนและโอกาสในการนำอาหารจีนยูนนานเข้ามาเผยแพร่ในประเทศไทย หลังจากนั้นนำข้อมูลเข้ามาวิเคราะห์ด้วยการวิเคราะห์เชิงพรรณนา จากการศึกษาพบว่าวัฒนธรรมอาหารในมณฑลยูนนาน เกิดขึ้นจากความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ภายในมณฑลยูนนาน และสภาพภูมิศาสตร์ภายในมณฑลยูนนานนั้น มีความแตกต่างกันอย่างมาก ส่งผลให้การเพาะปลูกวัตถุดิบในแต่ละพื้นที่ได้ผลผลิตที่แตกต่างกัน โดยพื้นที่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ถูกจำกัดพื้นที่ในการเพาะปลูกเนื่องจากพื้นที่แห้งแล้ง ในขณะที่บริเวณตอนกลางมีแม่น้ำไหลผ่าน จึงมีระบบชลประทานที่ดี และพื้นที่บริเวณตะวันออกเฉียงใต้เป็นพื้นที่แห้งแล้งมีความแตกต่างระหว่างหุบเขาเป็นอย่างมาก ผลผลิตที่ได้จากแต่ละพื้นที่ส่งผลให้เกิดประเภทอาหารในยูนนานที่นิยมในการบริโภค 5 ประเภท ได้แก่ ประเภทต้ม ประเภทนึ่ง ประเภทย่าง ประเภทหลน และประเภทหมักหรือบ่ม ซึ่งอาหารยูนนานใช้กรรมวิธีในการปรุงตามธรรมชาติในการสร้างสรรค์รสชาติอาหาร ในส่วนของผู้บริโภคที่มีต่ออาหารจีนยูนนาน พบว่า โดยส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงมีช่วงอายุระหว่าง 21-25 ปี และมีประสบการณ์ในการบริโภคอาหารจีนยูนนานในไทยน้อย ทั้งนี้หากมีร้านอาหารจีนยูนนานในไทยขึ้น กลุ่มตัวอย่างมีความเห็นว่าราคาและทำเลที่ตั้งมีผลต่อการเลือกใช้บริการอาหารรวมไปถึงการจัดทำโปรโมชั่นสำหรับลูกค้าเช่นกัน

บทความวิจัยฉบับเต็ม