การสร้างภาพแทนหมีแพนด้าของประเทศจีน

นายจิรายุส บุนนาค

บทคัดย่อ

สารนิพนธ์ “การสร้างภาพแทนหมีแพนด้าของประเทศจีน” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบและการนำเสนอหมีแพนด้าของสื่อต่าง ๆ ในแต่ละช่วงเวลาและเพื่อศึกษาลักษณะภาพแทนของหมีแพนด้าและความสัมพันธ์ระหว่างหมีแพนด้ากับมนุษย์ โดยใช้แนวคิดทางสังคมศาสตร์ ได้แก่ แนวความคิดการสร้างภาพแทน (Representation) และแนวความคิดเรื่องสิทธิสัตว์ (Animal Liberation) มาเป็นแนวทางในการศึกษา

ผลการศึกษาพบว่า รูปแบบและการนำเสนอหมีแพนด้ามีความเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทสังคมและมีความเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีของสื่อในแต่ละประเทศ ในช่วงเริ่มแรกจึงเป็นการนำเสนอในรูปแบบสื่อภาพยนตร์ของประเทศอเมริกา ต่อมาจึงพัฒนาเป็นรูปแบบสื่อออนไลน์ของประเทศจีน ได้แก่ เว็บไซต์ iPanda และเฟซบุ๊ก iPanda ที่มีเนื้อหาและรูปแบบในการนำเสนอที่หลากหลายมากกว่ารูปแบบภาพยนตร์ ทำให้เป็นที่นิยมทั้งในประเทศจีนและต่างประเทศ

สำหรับภาพแทนหมีแพนด้าจะเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทสังคมในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็นสองยุค ได้แก่ 1. ยุคสื่อภาพยนตร์ จะเป็นภาพแทนหมีแพนด้าที่ต้องพึ่งพามนุษย์ ซึ่งปรากฏภาพแทนความอ่อนแอ ความเป็นสัตว์มงคล และมนุษย์เป็นผู้ปกป้อง 2. ยุคสื่อออนไลน์ จะเป็นภาพแทนหมีแพนด้าที่มนุษย์ต้องปรับตัวและเรียนรู้ โดยปรากฏภาพแทนความน่ารัก และมนุษย์รักหมีแพนด้า จากที่กล่าวมาจะเห็นว่าภาพแทนหมีแพนด้าของทั้งสองยุคมีความสัมพันธ์กับโลกทัศน์มนุษย์นิยมที่ทำให้มนุษย์มองตนเองเป็นศูนย์กลาง และโลกทัศน์เรื่องสิทธิสัตว์ที่ทำให้มนุษย์เห็นคุณค่าของสัตว์มากขึ้น รวมทั้งสัตว์ถูกมนุษย์กำหนด จึงทำให้เกิดภาพแทนที่แตกต่างกัน