แนวทางการพัฒนาชนบทของจีน

นางสาวกฤตยา อุดม

บทคัดย่อ

สารนิพนธ์ “แนวทางการพัฒนาชนบทของจีน” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาชนบททางตอนในผ่านโครงการแก้ไขความยากจน ศึกษาผลสัมฤทธิ์ของแผนการพัฒนาชนบทของประเทศจีน และศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาชนบท กรณีศึกษามณฑลส่านซี มณฑล ยูนนาน และเขตปกครองตนเองทิเบต โดยมีวิธีศึกษาเชิงคุณภาพจากการรวบรวมข้อมูลนโยบายแผนห้าปีฉบับที่ 12 และแผนห้าปีฉบับที่ 13 จากเอกสารบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ทั้งจากเว็บไซต์สภาแห่งรัฐ สาธารณรัฐประชาชนจีน gov.cn และสำนักข่าวออนไลน์ รวมถึงข้อมูลทางภูมิศาสตร์จาก Google Earth จากนั้นนำมาวิเคราะห์ผลสัมฤทธิ์ของแผน วิเคราะห์สถิติเชิงพรรณนา และวิเคราะห์เชิงพรรณนา

ผลการศึกษาพบว่า หลายทศวรรษที่ผ่านมา จีนพยายามพัฒนาประเทศให้เจริญรุ่งเรืองร่วมกัน ดังนั้น ปัญหาความยากจนจึงต้องถูกขจัดไปพร้อมกับการพัฒนาทางพื้นที่และเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลจีนได้ออกนโยบายที่ใช้กลยุทธ์เจาะจงกลุ่มเป้าหมายเพื่อความแม่นยำและแก้ปัญหาถูกจุด รวมทั้งส่งเจ้าหน้าที่เฉพาะเข้าไปดูแลโดยตรง ซึ่งพื้นที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ส่งผลต่อแนวทางของนโยบายที่แต่ละกรณีศึกษานำไปปรับใช้ ทำให้ผลสัมฤทธิ์จากการนำนโยบายไปปฏิบัติของแต่ละพื้นที่จึงแตกต่างกัน มณฑลส่านซีและยูนนาน สามารถแก้ไขความยากจนได้อย่างเบ็ดเสร็จจากการส่งเสริมทางเศรษฐกิจเนื่องจากนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) แต่ในขณะเดียวกัน ความขัดแย้งทางวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ของทิเบต ส่งผลให้การปรับใช้นโยบายเดียวกันไม่ได้ผลเท่าที่ควร อย่างไรก็ดี แม้ทั้งสามแห่งสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของคนชนบท และเพิ่มรายได้แก่ประชากรยากจนก็ตาม แต่กลับมีภาวะหนี้สินมาแทนที่ วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปเน้นการบริโภค ส่งผลให้วัฒนธรรมถูกปรับเปลี่ยนให้ทันสมัยแต่ความดั้งเดิมกลับหายไป อีกทั้งในภายหลังพื้นที่ชนบทที่ได้รับการพัฒนาประสบกับปัญหานานาประการ ทั้งจากการเสื่อมโทรมของทรัพยากร และมลพิษจากอุตสาหกรรม