Farm stay กลยุทธ์ขยายการท่องเที่ยวของญี่ปุ่น

นางสาวณัฐริญา สิทธิพรต

บทคัดย่อ

ในปัจจุบันการท่องเที่ยวเชิงเกษตรเป็นการท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะการท่องเที่ยวประเภทฟาร์มสเตย์ ทั้งนี้ประเทศญี่ปุ่นยังได้นำการท่องเที่ยวประเภทนี้มาช่วยฟื้นฟูพื้นที่ประสบพิบัติภัยของตนด้วย ในงานวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์การวิจัยเพื่อศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบ ศักยภาพและอุปสรรคของฟาร์มสเตย์ในจังหวัดฟุกุชิมะ จังหวัดอิบาระกิ และจังหวัดโทชิกิ ตลอดจนการเสนอแนะแนวทางการพัฒนาฟาร์มสเตย์ในประเทศไทย และในส่วนของวิธีการศึกษา ผู้วิจัยได้ทำการศึกษาโดยวิธีการรวบรวมข้อมูลจากแพลตฟอร์ม YouTube, Facebook, Instagram และเว็บไซต์ต่าง ๆ ของฟาร์มสเตย์แต่ละพื้นที่ จากนั้นนำข้อมูลมาวิเคราะห์โดยใช้เทคนิคการวิเคราะห์เนื้อหา(Content analysis),เทคนิค SWOT analysis และเทคนิค Comparison of the case study

ผลการศึกษาพบว่า ฟาร์มสเตย์เป็นรูปแบบการท่องเที่ยวที่ให้นักท่องเที่ยวเข้ามาพักในพื้นที่ฟาร์ม และร่วมทำกิจกรรมกับเจ้าของฟาร์ม โดยมีการนำวัตถุดิบที่มีเฉพาะถิ่นมาสร้างเป็นกิจกรรม ดังนั้น กิจกรรมที่เกิดขึ้นจึงมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว นักท่องเที่ยวจึงสามารถเลือกเข้ามาทำกิจกรรมในฟาร์มสเตย์ตามความสนใจของตนได้ ซึ่งกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวและเจ้าของฟาร์มร่วมกันทำมากที่สุด คือ การเก็บวัตถุดิบในฟาร์มมาร่วมกันประกอบอาหาร กิจกรรมเหล่านี้ได้กลายเป็นจุดเด่นของฟาร์มสเตย์ และแม้ฟาร์มสเตย์จะประสบปัญหาที่ไม่สามารถควบคุมได้อย่างภัยพิบัติและคู่แข่งทางการค้า แต่ถ้าสามารถสร้างเอกลักษณ์ของตนขึ้นมาได้ ฟาร์มสเตย์นั้น ๆ ก็จะกลายเป็นตัวเลือกอันดับต้น ๆ ของนักท่องเที่ยว ทั้งนี้ผู้วิจัยยังค้นพบอีกว่า การท่องเที่ยวประเภทนี้จะสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพนั้นจำเป็นต้องมีนโยบายที่คอยสนับสนุน และผลักดันให้เป็นที่รู้จัก