อาข่าหย่ายูนนาน : ศึกษาเส้นทางการย้ายถิ่น รูปแบบการตั้งถิ่นฐาน และการ ปรับตัวทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์อาข่าผาหมี จังหวัดเชียงราย

นางสาวคุณาวรรณ ศรีตระกูล

บทคัดย่อ

สารนิพนธ์เรื่อง “อาข่าหย่ายูนนาน : ศึกษาเส้นทางการเคลื่อนย้าย รูปแบบการตั้งถิ่นฐาน และการปรับตัวทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์อาข่าผาหมี จังหวัดเชียงราย” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเกี่ยวกับเส้นทางการย้ายถิ่น รูปแบบการตั้งถิ่นฐาน และการปรับตัวทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ อาข่าผาหมีในจังหวัดเชียงราย

การศึกษาในส่วนของเส้นทางการเคลื่อนย้าย รูปแบบการตั้งถิ่นฐาน ตลอดจนการปรับตัวทางวัฒนธรรม ผู้วิจัยใช้วิธีการศึกษาจากการรวบรวมข้อมูลผ่านหนังสือ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ งานวิจัย และทำการสัมภาษณ์ผ่านการสนทนาแบบกลุ่มย่อย (Group Interview) โดยใช้คำถามแบบปลายปิด ผ่านกลุ่มประชากรตัวอย่างที่คัดเลือกมาหมู่บ้านละ 10 คน นอกจากนี้ผู้วิจัยยังได้การลงพื้นที่จริงเพื่อทำการสังเกตวิถีชีวิตและวัฒนธรรมภายในชุมชนโดยการเข้าไปมีส่วนร่วมผ่านการเข้าไปพักอยู่กับชาวบ้าน

ผลการศึกษาพบว่าเส้นทางการเคลื่อนย้ายถิ่นของกลุ่มชาติพันธุ์อาข่าหมู่บ้านผาหมีและหมู่บ้านหล่อชานั้นแต่เดิมมีต้นทางมาจากเขตสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ประเทศจีน ส่วนปัจจัยผลักที่ทำให้เกิดการย้ายถิ่นออกคือสภาพทางการเมืองที่ย่ำแย่หลังการปฏิวัติวัฒนธรรม ตลอดจนถูกกดขี่จากทางรัฐ และถูกรุกรานจากคนต่างเผ่า ปัจจัยที่ทำให้ชาวอาข่าผาหมีเลือกที่จะเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย สามารถแบ่งออกเป็น 2 ปัจจัย คือ ปัจจัยทางด้านสังคมและปัจจัยทางด้านวัฒนธรรม ส่วนรูปแบบการตั้งถิ่นฐานของชาวอาข่าผาหมีทั้งในหมู่บ้านผาหมีและหมู่บ้านหล่อชาเป็นการตั้งถิ่นฐานแบบรวมกลุ่ม ภายหลังการตั้งถิ่นฐานชาวอาข่ามีการปรับตัวทางวัฒนธรรมได้ดี โดยมีการปรับตัวทางวัฒนธรรมทั้งในด้านการแต่งกาย การนับถือศาสนา การใช้ภาษา ทั้งยังมีการติดต่อกับบุคคลภายนอกอยู่เสมอ นอกจากนี้ยังมีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับคนพื้นราบ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังสามารถรักษาวัฒนธรรม ประเพณี และอัตลักษณ์ของกลุ่มตนเอาไว้ได้เป็นอย่างดี