การศึกษาเปรียบเทียบวัฒนธรรมไทยและวัฒนธรรมจ้วง

นางสาวณัฐริกา ไตรประวัติ

บทคัดย่อ

บทความวิจัยเรื่อง “การศึกษาเปรียบเทียบวัฒนธรรมไทยและวัฒนธรรมจ้วง” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประวัติความเป็นมาของชนชาติจ้วง และเปรียบเทียบวัฒนธรรมไทยและวัฒนธรรมจ้วง โดยมีวิธีการศึกษาตามระเบียบวิธีวิจัยทางประวัติศาสตร์ผ่านเอกสารชั้นรองที่เป็นทั้งหนังสือ บทความ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่จะศึกษา และนำเสนอในลักษณะพรรณนาวิเคราะห์

ผลการศึกษาพบว่าจากทัศนะของนักวิชาการส่วนใหญ่เชื่อว่าคนจ้วงเป็นคนพื้นเมืองแถบกวางสีมาจากคนซีเอาและคนลั่วเยว่ซึ่งเป็นชนชาติจัดอยู่ในกลุ่มคนไป่เยว่ ประชากรชาวจ้วงนับว่าเป็นชนกลุ่มน้อยที่มีจำนวนมากที่สุดเป็นรองเพียงชนชาติฮั่น จากการศึกษาด้านวัฒนธรรมของชาวจ้วงพบว่ามีหลายประการที่สะท้อนความเป็นรากเหง้าของคนไทย ทว่าคนจ้วงมิได้นับว่าเป็นคนไทย วัฒนธรรมของชาวจ้วงและไทยที่คล้ายคลึงกันพบว่ามี7ด้าน ได้แก่ ที่อยู่อาศัยจะเป็นใต้ถุนสูง ด้านล่างจะใช้เลี้ยงสัตว์เก็บของหรือใช้พักผ่อน อาหารคนจ้วงและคนไทยนิยมกินอาหารหมักดองเช่นเดียวกัน ด้านภาพเขียนสีปรากฏภาพพิธีกรรมความเชื่อ ภาพคนและสัตว์สัมพันธ์กับธรรมชาติเช่นเดียวกัน ด้านการแต่งงานปรากฏวัฒนธรรมเอาเขย มีการแต่งงานเอาเขยเข้าบ้านหญิงเหมือนกัน มีความเชื่อขวัญเหมือนกัน มีวัฒนธรรมการฝังศพครั้งที่สองเหมือนกัน และมีคำศัพท์เกี่ยวกับชีวิต อวัยวะ สิ่งแวดล้อมตลอดจนรูปแบบไวยกรณ์คล้ายคลึงกัน ส่วนวัฒนธรรมที่แตกต่างได้แก่ด้านการแต่งกาย ชาวจ้วงจะเน้นรูปแบบของชนชาติฮั่นมากกว่า ด้านการตั้งชื่อคนจ้วงจะนำแซ่ขึ้นตามแบบชาวจีน ส่วนคนไทยจะนำนามสกุลวางหลังชื่อ ทางศาสนาคนจ้วงไม่มีศาสนาหรือองค์กรเอกภาพแต่ไทยมีศาสานา ส่วนวัฒนธรรมการทอผ้าจะแตกต่างที่คนจ้วงนิยมย้อมผ้าสีครามหรือดำ แต่คนไทยจะมีทั้งสีพื้นและสีสดใส