ภาพลักษณ์ของผู้หญิงเกาหลีใต้ช่วง ค.ศ. 2000-2021 ผ่านวรรณกรรมของโชนัมจู

นางสาวเกวลิน โรจนเสาวภาคย์

บทคัดย่อ

บทความวิจัยเรื่อง “ภาพลักษณ์ของผู้หญิงเกาหลีใต้ช่วง ค.ศ. 2000-2021 ผ่านวรรณกรรมของโชนัมจู” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาภาพลักษณ์ของผู้หญิงเกาหลีใต้ในช่วง ค.ศ. 2000 – 2021 และศึกษาภาพลักษณ์ของผู้หญิงเกาหลีใต้ที่ปรากฏในงานเขียนของโชนัมจู โดยมีวิธีการศึกษาด้วยวิธีการศึกษาทางประวัติศาสตร์ (Historical Approach) โดยการรวบรวมข้อมูลจากเอกสารชั้นรองที่เกี่ยวข้องกับภาพลักษณ์ของผู้หญิงเกาหลีใต้ในช่วง ค.ศ. 2000 – 2021 ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ และนำเสนอในลักษณะของการพรรณนาวิเคราะห์

ผลการศึกษาพบว่าผู้หญิงเกาหลีใต้ในช่วง ค.ศ. 2000 – 2021 มีบทบาทในสังคมมากขึ้นทั้งในด้านสังคม การศึกษา และเศรษฐกิจ ซึ่งแตกต่างจากผู้หญิงเกาหลีใต้ในสมัยก่อนปี 2000 ค่านิยมทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม คือ ค่านิยมเรื่องความกตัญญูต่อพ่อแม่ ค่านิยมการเลือกคู่ครองให้บุตรรวมถึงค่านิยมการแต่งงานและการหย่าร้าง ส่วนค่านิยมการมีบุตรชายของชาวเกาหลีใต้ยังคงปรากฏให้เห็นเช่นเดียวกับในอดีต นอกจากนี้ตั้งแต่ปี 1960 เป็นต้นมาผู้หญิงเกาหลีใต้ยังมีบทบาทในด้านเศรษฐกิจมากขึ้นอีกด้วย แต่ไม่ว่าพวกเธอจะมีบทบาททางเศรษฐกิจมากขึ้นเท่าไร พวกเธอก็ยังคงต้องเผชิญหน้ากับความยากลำบากในการทำงานซึ่งเป็นอิทธิพลมาจากแนวคิดของขงจื่อที่ตีกรอบและลดทอนคุณค่าความสามารถของผู้หญิงให้ด้อยค่ากว่าผู้ชายเช่นเดิม

สำหรับบทบาทของผู้หญิงเกาหลีใต้ที่พบในงานเขียนของโชนัมจูทั้ง 3 เล่ม คือ ความไม่เท่าเทียมกันระหว่างเพศชายและเพศหญิง ความยากลำบากที่ผู้หญิงต้องพบเจอในสังคมเกาหลีใต้ตั้งแต่เด็กจนโตทั้งในบทบาทของการเป็นลูกสาว เป็นภรรยา เป็นแม่ หรือแม้แต่เป็นพนักงานบริษัท จึงกล่าวได้ว่าภาพลักษณ์ของผู้หญิงที่เป็นจริงในสังคมเกาหลีใต้ช่วง ค.ศ. 2000 – 2021 กับผลงานงานเขียนของโชนัมจูมีความเหมือนกัน กล่าวคือ มีการสะท้อนสภาพความเป็นจริงที่ผู้หญิงเกาหลีใต้ในช่วง ค.ศ. 2000 – 2021 ต้องเผชิญกับปัญหาความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศในทุก ๆ มิติสังคม ทั้งในบทบาทของการเป็นลูกสาว การเป็นแม่ เป็นภรรยา และเป็นพนักงานบริษัท โดยมีการสะท้อนให้เห็นถึงความเจ็บปวด ความรู้สึกไม่พอใจกับสิ่งที่พวกเธอถูกตีกรอบให้เป็น ความรู้สึกไม่เป็นธรรมในเรื่องต่าง ๆ ที่พวกเธอต้องเผชิญตั้งแต่วัยเด็กจนโต