ความเปลี่ยนแปลงทางด้านวัฒนธรรมดนตรีร็อกในสังคมเกาหลีใต้ ค.ศ.1960-2021

นางสาวสมฤทัย ทองฉิม

บทคัดย่อ

บทความวิจัย“ความเปลี่ยนแปลงทางด้านวัฒนธรรมดนตรีร็อกในสังคมเกาหลีใต้ ค.ศ.1960-2021” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประวัติแนวเพลงร็อกในประเทศเกาหลีใต้และศึกษาบทบาทและมุมมองของสังคมเกาหลีใต้ที่มีต่อเพลงร็อก

โดยผู้ศึกษาใช้วีธีการรวบรวมข้อมูลจากหนังสือ วารสาร งานวิจัยและบทความออนไลน์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาศึกษาประวัติแนวเพลงร็อกในประเทศเกาหลีใต้ และวิเคราะห์บทบาทและมุมมองของสังคมเกาหลีใต้ที่มีต่อเพลงร็อก

ผลการศึกษาพบว่า ประเทศเกาหลีใต้รับกระแสวัฒนธรรมร็อกเข้ามาผ่านกองทัพสหรัฐอเมริกาในประเทศเกาหลีใต้หลังสงครามเกาหลี ส่งผลให้นักดนตรีชาวเกาหลีใต้มีโอกาสได้เรียนรู้ในดนตรีร็อก ความสำเร็จของวง The Pearl Sisters ทำให้เพลงร็อกกลายเป็นแนวเพลงที่คุ้นเคยและได้รับการยอมรับจากชาวเกาหลีใต้ อย่างไรก็ตามด้วยอำนาจทางการเมืองที่ตกอยู่ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการทหารและบรรยากาศทางสังคมภายใต้การปกครองของพัคจองฮี ในช่วงทศวรรษ 1970 ส่งผลให้สังคมเกาหลีใต้มีลักษณะเป็นสังคมอนุรักษ์นิยมที่ปิดกั้นวัฒนธรรมฮิปปี้และดนตรีร็อกซึ่งเป็นตัวแทนของวัฒนธรรมเยาวชน เมื่อดนตรีร็อกถูกเชื่อมโยงกับยาเสพติดและวัฒนธรรมฮิปปี้ ส่งผลให้ดนตรีร็อกที่กำลังเติบโตในเกาหลีใต้ถูกรัฐบาลจัดว่าเป็นวัฒนธรรมที่เสื่อมโทรมและทำให้กระบวนการพัฒนาเพลงร็อกในเกาหลีใต้เกิดการชะลอตัวลง แม้ในปัจจุบันสังคมเกาหลีใต้จะพ้นจากอำนาจการปกครองของพัคจองฮีและถึงแม้สถานการณ์การเซนเซอร์เพลงร็อกจะผ่อนคลายลงแล้ว แต่ด้วยรสนิยมการฟังเพลงที่เปลี่ยนแปลงไปของชาวเกาหลีใต้ รวมถึงลักษณะของวัฒนธรรมดนตรีร็อกที่ไม่เหมาะสมกับสภาพสังคมของเกาหลีที่มีลักษณะเป็นสังคมอนุรักษ์นิยม ส่งผลให้ดนตรีร็อกในเกาหลีมีความนิยมต่ำเมื่อเทียบกับแนวดนตรีประเภทอื่น อย่างไรก็ตามแม้เพลงร็อกจะไม่ได้เป็นแนวเพลงกระแสหลักที่ชาวเกาหลีใต้ในปัจจุบันนิยม แต่ดนตรีร็อกได้ฝังรากลึกไปในสังคมเกาหลีใต้ด้วยการเป็นต้นแบบและพื้นฐานของแนวเพลงประเภทอื่น ๆ และดนตรีร็อกยังมีบทบาทในการเป็นเครื่องมือที่ใช้เพื่อขับเคลื่อนทางการเมืองและสังคมเกาหลีใต้อยู่ในปัจจุบัน