วาทกรรมและอำนาจกับการเป็นผู้ถูกกดทับในสังคมญี่ปุ่น: กรณีศึกษาเพลงของ Takayan

นางสาวไพวรินทร์ ศิริศักดิ์

บทคัดย่อ

สารนิพนธ์ “วาทกรรมและอำนาจกับการเป็นผู้ถูกกดทับในสังคมญี่ปุ่น: กรณีศึกษาเพลงของ Takayan” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเรื่องราว รายละเอียด ข่าวและเหตุการณ์เกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ ในสังคมญี่ปุ่นที่เพลงของ Takayan กล่าวถึง เพื่อศึกษาว่าวาทกรรมในสังคมญี่ปุ่นที่สะท้อนผ่านเพลงของ Takayan มีวาทกรรมใดบ้าง และเพื่อศึกษาและวิเคราะห์วาทกรรมเหล่านั้น โดยศึกษาเพลงของ Takayan ที่คัดเลือกแบบ Purposive Sampling โดยเน้นความเป็นปัจจุบัน ความหลากหลายของประเด็นในเพลง และความน่าสนใจ จำนวน 8 เพลงในช่วงปี ค.ศ. 2019 – เดือนสิงหาคม ปีค.ศ. 2021 จากนั้นก็แปลเนื้อเพลงเป็นภาษาไทย วิเคราะห์เนื้อหาและหาข้อมูลจากเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้น วิเคราะห์ว่าเพลงสะท้อนวาทกรรมใด จากนั้นจึงศึกษาและวิเคราะห์วาทกรรมเหล่านั้น

ผลการศึกษาพบว่าเพลงของ Takayan มักพูดถึงการถูกกดทับจากสังคมและการเป็นคนกลุ่มน้อย ศิลปินสร้างเพลงแทนใจและให้กำลังใจคนเหล่านั้น บนโซเชียลมีเดียของศิลปินก็เป็นพื้นที่ให้แฟนคลับพูดคุยกันทั้งเรื่องเกี่ยวกับศิลปินหรือความเจ็บปวดจากการถูกกดทับ เพราะสังคมญี่ปุ่นปัจจุบันยังมีอิทธิพลจากแนวคิดดั้งเดิมที่เน้นความเป็นกลุ่ม วินัย และหน้าที่ แต่เมื่ออินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียมีบทบาท ผู้คนก็เปิดกว้างขึ้นจึงเริ่มเปลี่ยนแนวคิดและพยายามเปลี่ยนแนวคิดของสังคมให้ทันสมัยและเปิดกว้าง วาทกรรมในสังคมญี่ปุ่นที่พบ ได้แก่ วาทกรรมการมองร่างกายเป็นสินค้า วาทกรรมประสิทธิภาพสูงสุดในการผลิต วาทกรรมการควบคุมทางสังคม วาทกรรมเพศวิถี และวาทกรรมความบ้า วาทกรรมเหล่านี้กดทับคนกลุ่มน้อยที่ต่างจากบรรทัดฐานและกรอบสังคม ทั้งยังกำหนดกรอบสังคม ความจริง ความถูกผิดที่กลายเป็นบรรทัดฐาน สังคมจึงกดทับคนกลุ่มน้อยด้วยการสังเกต จัดกลุ่ม และลงโทษให้กลับเป็นปกติ ตรงกับแนวคิดกิริและนินโจและแนวคิด “ตะปูที่ยื่นออกมาจะต้องถูกตอกลงไป”