ทรงผม : ร่างกายกับพื้นที่ของการช่วงชิงทางสังคมและวัฒนธรรม

โดย นางสาวอรกานต์ บูรณะโสภณ

บทคัดย่อ

งานวิจัยเรื่อง ทรงผม : ร่างกายกับพื้นที่ของการช่วงชิงทางสังคมและวัฒนธรรม มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะทรงผมของคนญี่ปุ่นและสาเหตุการเปลี่ยนแปลงของทรงผมในแต่ละยุคสมัย และวิเคราะห์ทรงผมในแง่มุมของสังคมศาสตร์ ซึ่งมีวิธีการศึกษาด้วยการรวบรวมข้อมูลจากเอกสารและสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ อาทิ หนังสือ บทความจากวารสาร บทความทางวิชาการ และข้อมูลจากสื่อออนไลน์ต่างๆ และได้นำกรอบแนวความคิดและทฤษฎีทางสังคมศาสตร์เรื่อง มนุษย์กับศิลปะ การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม รสนิยม การเมืองเชิงชีวอานาจ (Bio power) ของมิเชล ฟูโก และอัตลักษณ์ มาเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ข้อมูล

ผลการศึกษาพบว่า ลักษณะทรงผมของคนญี่ปุ่นมีการเปลี่ยนแปลงตามบริบทของสังคม ลักษณะทรงผมของญี่ปุ่น สามารถแบ่งออกเป็น 5 ยุค คือ ยุคที่ 1 ยุคทรงผมแบบดั้งเดิม: ยุคโคะฟุง (ค.ศ.250-538) ยุคที่2 ยุคแห่งการปรับเปลี่ยนและสร้างรูปแบบทรงผม: ยุคอะซึกะถึงยุคอะซึจิโมะโมะยะมะ (ค.ศ.538- 1603) ยุคที่3 ยุครุ่งเรืองของทรงผม: ยุคเอโดะ (ค.ศ.1604 – 1868) ยุคที่ 4 ยุคผสมผสานระหว่างทรงผมญี่ปุ่นกับทรงผมตะวันตก: ยุคเมจิ ถึง ยุคโชวะ (ค.ศ.1868-1970) และยุคที่ 5 ยุควัฒนธรรมนิยมทรงผมญี่ปุ่น: ปลายยุคโชวะ ถึงยุคเฮเซ (1980 – ปัจจุบัน)

และจากการศึกษาทรงผมในแต่ละยุคพบว่าทรงผมไม่ใช่เป็นเพียงแค่องค์ประกอบสร้างทางร่างกายแต่ทรงผมกลายเป็นพื้นที่ของการสร้างอำนาจและช่วงชิงทางสังคมและทางวัฒนธรรม ทรงผมเป็นพื้นที่ของการควบคุมร่างกาย โดยตั้งยุคโคะฟุงจนถึงยุคเอโดะซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นสังคมประเพณี ทรงผมเป็นพื้นที่ของการควบคุมทางเพศและชนชั้นอย่างชัดเจน รูปแบบทรงผมที่ประกอบสร้างขึ้นมาเป็นสิ่งที่ควบคุมคนให้มีการแบ่งแยกเพศและชนชั้นทางสังคมโดยผ่านทรงผมที่แต่ละเพศและชนชั้นจะทำทรงผมที่แตกต่างกันไปตามบริบทของสังคม ต่อมาในยุคเมจิถึงปัจจุบันประเทศญี่ปุ่นเข้าสู่การเป็นสังคมสมัยใหม่ การควบคุมคนโดยจำกัดให้ทำทรงผมตามแบบที่ผู้นำ/ผู้ปกครองหรือค่านิยมในสังคมกำหนดได้เปลี่ยนแปลงไป คนญี่ปุ่นมีเสรีภาพในการเลือกทำทรงผมแบบต่างๆ มากขึ้น ทำให้ทรงผมไม่ใช่พื้นที่ของการควบคุมทางเพศหรือชนชั้น แต่ทรงผมกลายเป็นพื้นที่ของการสร้างตัวตนสร้างอำนาจของแต่ละคนที่จะควบคุมตัวเองโดยผ่านทางการทาทรงผมแบบต่างๆ ในขณะเดียวกันทรงผมไม่ได้สร้างอำนาจให้คนในยุคปัจจุบันมีอำนาจโดยสมบูรณ์แบบ เพราะทรงผมก็ยังคงควบคุมให้คนญี่ปุ่นทำทรงผมแบบต่างๆ ภายใต้กระแสสังคมที่มีธุรกิจแฟชั่นและสื่อสารมวลชนเป็นผู้สร้างกระแสนิยมนั้นขึ้นแต่ไม่ใช่อำนาจทางการเมือง/ผู้ปกครองเหมือนเช่นในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งหากทำตามรูปแบบทรงผมนั้นก็จะกลายเป็นคนมีอำนาจมีตัวตนในสังคม ซึ่งอำนาจนั้นคืออำนาจที่ได้มาจากทรงผมซึ่งเป็นทุนทางร่างกายของของแต่ละคน

ดาวน์โหลด บทความวิจัย
icon-pdf