ความเป็นบูโตะในการแสดงไทยร่วมสมัย

โดย นายอาชัญ ช่อชัยทิพฐ์

บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิเคราะห์การแสดงร่วมสมัยที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในปัจจุบัน ซึ่งศึกษาอิทธิพลของการจัดการแสดง ในลักษณะของบูโตะทั้งด้านความคิด สัญลักษณ์ และกลวิธีการสื่อสารในรูปแบบฟิสิคคัลเธียเตอร์ เพื่อให้เข้าใจถึงลักษณะและพัฒนาการของการแสดงแบบบูโตะที่มีเริ่มแพร่หลายเข้ามาในประเทศไทย โดยเริ่มศึกษาจากจุดเริ่มต้นของเทศกาลบูโตนานาชาติ ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 รวมทั้งการแสดงไทยร่วมสมัยอื่นๆ ที่ใช้การแสดงแบบบูโตตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 เป็นต้นมา

ผลการศึกษาพบว่าการแสดงละครในแบบบูโตะ มีการนำเสนอเกี่ยวกับเรื่องจิตวิญญาณ ความคิด ความเชื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตั้งคำถามกับความงามและคุณค่าของมนุษย์ รวมไปถึงการวิพากย์สังคมแบบวัตถุนิยม แสดงออกโดยใช้สัญลักษณ์ทางร่างกายและการแต่งหน้า และใช้เทคนิคของการแสดงร่วมสมัย ซึ่งการแสดงลักษณะนี้ ได้เริ่มแพร่หลายเข้ามายังประเทศไทยอย่างชัดเจนคือปี พ.ศ.2547 โดยมีการจัดงาน “เทศกาลบูโตนานาชาติ ณ กรุงเทพฯ” หลังจากนั้นมีการจัดเทศกาลต่างๆรวมถึงมีการจัดแสดงละครเวทีและการแสดงร่วมสมัยที่ใช้ลักษณะของบูโตในการสื่อสาร นอกจากนี้ ยังมีสถาบันการแสดงที่สอนเฉพาะบูโตและมีการอบรมพิเศษเกี่ยวกับบูโต (workshop) เกิดขึ้นอย่างมากมายอีกด้วย และจากการศึกษายังพบว่าศิลปะการแสดงร่วมสมัยในไทยที่ได้รับอิทธิพลของบูโตกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยสามารถสังเกตได้
จากการจัดการแสดงในลักษณะดังกล่าวที่มีเพิ่มมากขึ้น

ดาวน์โหลด บทความวิจัย
icon-pdf